เรื่องราวอันน่าทึ่งของ Andy Weir กับผลงาน Self-Publishing สุดโด่งดัง The Martian

จากโปรแกรมเมอร์สุดเนิร์ด สู่การเป็นนักเขียนสุดโด่งดังกับนิยายวิทยาศาสตร์ The Martian ที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่เพิ่งลาโรงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมหยิบยกขึ้นมาเขียน คือ การพลิกชีวิตจากนักเขียนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสร้างรายได้จากการตีพิมพ์หนังสือด้วยตนเอง หรือ Self-publishing ซึ่งมาจากความสนใจ และงานอดิเรกส่วนตัว

Andy Weir คือ หนึ่งในผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจจากการทำ Self-Publishing ด้วยผลงานนิยายวิทยาศาสตร์ (ไซไฟ) “The Martian” หรือ “เหยียบนรกสุญญากาศ” ที่โด่งดังไปทั่วโลกในตอนนี้

ในบทความนี้พวกเราจะได้ทึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Weir และ The Martian งานเขียนที่เกิดจากความสนใจ และงานอดิเรกส่วนตัว แปรเปลี่ยนมาเป็นรายได้ และการไปถึงจุดที่นักเขียนหลายคนได้แต่ฝัน

หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า ชายคนนี้เริ่มต้นเขียนเรื่อง The Martian เป็นตอน ๆ เผยแพร่ให้ผู้คนได้อ่านบนบล็อกส่วนตัวของเขาเอง

ต่อมาเขาตัดสินใจรวบรวมตอนต่าง ๆ ของ The Martian เข้าด้วยกัน และตีพิมพ์ออกมาเป็นอีบุ๊คด้วยตนเอง วางขายบน Amazon ในราคาที่ถูกเหลือเชื่อ คือ 0.99 เหรียญ

เนื้อเรื่องที่สนุกตื่นเต้น และราคาสุดถูก ทำให้นิยายไซไฟเรื่องนี้ได้รับความนิยมแบบถล่มทลาย

โดยติดอันดับหนังสือขายดีของ Amazon ในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ และเปิดตัวเป็นหนังสือเล่มขายดีลำดับที่ 12 ของ The New York Times ในตอนนี้ The Martian ครองอันดับหนึ่ง หนังสือในหมวดนิยาย และความดังได้เข้าตาผู้กำกับหนังอย่าง Ridley Scott ซึ่งเขาเลือก Matt Damon มารับบทเป็นตัวเอกของ The Martian

ยิ่งกว่านิยาย คือ วิทยาศาสตร์

เรื่องราวอันน่าทึ่งของ Andy Weir กับ Self-Publishing Ebook นิยายไซไฟสุดดัง The Martian

Photo credit: ‘The Martian’ Might Be the Most Realistic Space Movie Ever Made

โดยย่อ The Martian เป็นเรื่องราวของ Mark Watney มนุษย์อวกาศ ซึ่งถูกคิดว่าเสียชีวิตหลังเกิดพายุรุนแรงและถูกทีมงานทิ้งไว้บนดาวอังคาร สิ่งที่ทำให้ The Martian แตกต่างจากเรื่องอื่น และประสบความสำเร็จ คือ การวางพล็อตเรื่องของผู้แต่งที่อิงจากวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด

เทคโนโลยีที่ปรากฏในเรื่องไม่ว่าจะเป็นยานอวกาศ ชุดอวกาศ หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการท่องอวกาศทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และตัวละครเอกอย่าง Watney ก็ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยให้เขามีชีวิตรอดได้ นั่นคือวิทยาศาสตร์ทั้งหมดในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง

Weir อธิบายว่าตัวเขาเองนั้นเป็นพวกเนิร์ดคลั่งอวกาศ ซึ่งคนเหล่านี้ชอบที่จะศึกษาเทคโนโลยีของยานอวกาศ กลศาสตร์วงโคจร และกฎฟิสิกส์ต่าง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม The Martian ถึงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์

นักเขียนนิยายชื่อดังยังเล่าต่ออีกว่า ในช่วงแรก ๆ ที่เขาพยายามเขียนนั้นเนื้อเรื่องสะเปะสะปะมาก แต่ The Martian ก็ถูกปล่อยออกไปบางส่วน เพราะมันจับความกระตือรือล้นของ Weir ที่มีต่อวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศได้อยู่หมัด

ในอีกมุมหนึ่ง Weir ก็เกิดความรู้หวาดหวั่น เมื่อเขารู้ว่าตัวเองกำลังเขียนพล็อตเรื่องด้านวิทยาศาสตร์แบบจัดหนักอยู่

“ตอนนั้นผมกลัวว่าเรื่องที่ผมเขียนมันจะคล้ายกับพวกบทความที่อยู่บน Wikipedia ถ้าผมไม่ทำให้มันดูน่าสนใจ” Weir กล่าว เมื่อครั้นที่เขาไปพูดเกี่ยวกับ The Martian ในงานประชุม The Humans to Mars เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ Washington D.C.

แค่คุณลองอ่าน The Martian สัก 2 หน้าคุณจะเข้าใจเลยว่า Weir ได้ค้นคว้าและวิจัยมาเป็นอย่างดี แต่กระนั้นเขาก็ยังขัดเกลาเรื่องราววิทยาศาสตร์แบบจัดหนักจัดเต็ม ให้เป็นพล็อตเรื่องที่โลดโผน สนุกสนาน และมีตัวเอกที่ฉลาด (ซึ่ง Weir อ้างอิงจากบุคลิกของเขาเอง) นี่ทำให้ The Martian มีความสมดุลที่สมบูรณ์แบบระหว่างวิทยาศาสตร์กับความเป็นนิยาย นอกจากนี้การดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไวยังทำให้ผู้อ่านยากที่จะวางนิยายเล่มนี้ลง

ประสบความสำเร็จทันที

ในปี 2009 Weir ได้เริ่มปล่อย The Martian ในบล็อกส่วนตัวเป็นตอน ๆ และเปิดให้คนเข้ามาอ่านฟรี ในช่วงแรกที่เขาตีพิมพ์อีบุ๊คด้วยตนเองนั้น ได้มีนักอ่านใจรักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเข้ามาอ่าน และคนเหล่านั้นก็ให้ Feedback กลับมา

เรื่องราวอันน่าทึ่งของ Andy Weir กับ Self-Publishing Ebook นิยายไซไฟสุดดัง The Martian

Photo credit: Wikipedia

Weir เป็นพวกเนิร์ดคลั่งอวกาศ แต่ในเรื่องของเคมี เขาไม่ได้เชี่ยวชาญทางด้านนี้

“พวกนักเคมีหลายคนชี้ให้เห็นว่าในดราฟท์แรก ๆ ของ The Martian นั้นยังมีปัญหาอยู่ในเรื่องของเคมี” Weir กล่าว Feedback เหล่านี้ทำให้เขารู้ตัวและย้อนกลับไปตรวจสอบ เพื่อแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับเคมีในเนื้อเรื่องให้มันถูกต้อง ซึ่งสำคัญมากต่อการเอาชีวิตรอดของ Watney

หนังสือของ Weir ถูกบอกต่อ จนมีหลายคนเข้ามาถามเขาว่าจะมีเวอร์ชั่นดิจิทัลหรือไม่ ดังนั้น Weir จึงรวมแต่ละตอนมาไว้ในไฟล์เดียว ถึงอย่างนั้นก็มีนักอ่านบางคนที่ดาวน์โหลดไม่ได้ เขาจึงแก้ปัญหานี้โดยเอาไปวางไว้ใน Amazon ให้นักอ่านดาวน์โหลดไปอ่านบน Kindle

“เมื่อได้ช่องทางการส่งมอบสินค้าที่สะดวกโยธิน ผู้คนก็ต่างหลั่งไหลเข้ามาโหลดนิยายไซไฟราคา 99 เซ็นต์ทันที ซึ่งมีมากกว่าจำนวนคนที่เคยเข้ามาโหลดฟรีเสียอีก” Weir กล่าว และนักอ่านเหล่านั้นก็เขียนรีวิวเชิงบวกทิ้งไว้บน Amazon ให้ผมด้วย

The Martian พุ่งทะยานไปติดอันดับหนังสือยอดนิยม หมวดนิยายวิทยาศาสตร์ของ Amazon โดยใช้เวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น และไม่นานนักก็มีสำนักพิมพ์อย่าง Random House ติดต่อเข้ามาเพื่อขอตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม

“อีก 4 วันต่อมา Hollywood ติดต่อผมมา เพื่อขอสิทธิ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์”

แน่นอนว่า เขาตกลงที่จะเซ็นต์สัญญาทั้งสำนักพิมพ์ และ Hollywood ในสัปดาห์เดียวกัน ซึ่งทั้งคู่เสนอรายได้ประมาณ 6 หลักกลาง ๆ

Weir ให้สัมภาษณ์ว่า “เรื่องดีลทั้งหมดที่เข้ามา มันเกิดขึ้นกะทันหัน ซึ่งตัวผมเองก็ไม่อยากจะเชื่อเลย จริง ๆ แล้วผมกังวลเสียด้วยซ้ำว่านี่มาหลอกกันหรือเปล่า ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้น คือ ผมถามกับตัวเองว่า ‘นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือ’ ”

ตั้งแต่ที่หนังสือประสบความสำเร็จ Weir ก็ได้ไปถึงจุดที่เนิร์ดคลั่งอวกาศหลายคนฝันถึง นั่นคือการเข้าไปชมห้องปฏิบัติการไอพ่น (Jet Propulsion Lab) และเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานใน NASA’s Johnson Space Center เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เขาได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ และนักบินอวกาศของนาซ่า

Weir บอกว่าเขาไม่ได้มีส่วนร่วมมากนักในการถ่ายทำภาพยนตร์

“งานประจำของผม คือ เอาเช็คไปขึ้นเงิน” เขากล่าวติดตลก

อย่างไรก็ตาม มีนักเขียนหลายคนได้ส่งสำเนาบทบทภาพยนตร์มาให้ Weir และเชิญให้เขาส่งคำชี้แจงกลับมาให้หากมีอะไรผิดพลาด

จนถึงตอนนี้ ทีมถ่ายทำภาพยนตร์ก็พยายามที่จะรักษาประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นใจความสำคัญของพล็อตเรื่องเอาไว้ โดยมีนาซ่า และองค์การอวกาศยุโรปคอยให้คำปรึกษา ท้ายที่สุดวิทยาศาสตร์ก็ไปปรากฎในหนังตัวอย่าง ในประโยคที่ Watney (Matt Damon) กล่าวว่า “I’m going to have to science the shit out of this” หรือ “ผมจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์เพื่อออกจากสถานการณ์นรกแตกนี้ให้ได้”

นอกจากนี้ Weir ยังพูดในแง่ดีเมื่อภาพยนตร์กำลังจะออกฉายว่า

“ผมคิดว่า The Martian จะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจการสำรวจดาวอังคาร เพราะเรามีหนังไม่กี่เรื่อง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการท่องไปในอวกาศได้ละเอียดขนาดนี้”

ความคิดเห็นจากผู้เขียน

คุณจะเห็นได้ว่าความสำเร็จของ The Martian ไม่ได้ฟลุ๊ค หรือเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน การเริ่มต้นงานเขียนของ Weir มาจาก Passion และความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับอวกาศ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คืองานอดิเรกของเขาเอง

ประเด็น คือ ทำอย่างไรที่จะแปรเปลี่ยนความหลงใหล และงานอดิเรกให้สามารถทำเงินได้ นั่นก็คือต้องทดสอบตลาด

ในที่นี้ตลาดของเขา คือ แฟน ๆ ที่ติดตามผลงานตั้งแต่สมัยที่เขาเปิดให้อ่านฟรีบนบล็อกส่วนตัว และมีส่วนช่วยในการปรับปรุง Product (แก้ไขเนื้อหาในส่วนของเคมี) เพื่อให้ The Martian กลายเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่สมจริงมากที่สุด

เมื่อมีฐานแฟนและเสียงเรียกร้อง การผลิตและขายสินค้าก็ทำได้ง่าย โดย Weir ใช้วิธี Self-Publishing ตีพิมพ์เป็นอีบุ๊ควางขายบน Amazon

เกี่ยวกับ Self-Publishing

คำว่า Self-Publishing หมายถึง การตีพิมพ์หนังสือหรือสื่อใด ๆ ก็ตามด้วยตัวเจ้าของเนื้อหาเอง โดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ยกตัวอย่างการตีพิมพ์หนังสือด้วยตนเอง ผู้แต่งจะมีอำนาจในการดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่ การออกแบบหน้าปก การจัดเนื้อหา การกำหนดราคา การจัดจำหน่าย การทำการตลาดและประชาสัมพันธ์

เหตุผลที่การตีพิมพ์หนังสือด้วยตนเองกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก เนื่องจากกระแส Ebook ได้รับความนิยมจากการเติบโตของอุปกรณ์พกพาจำพวก Smartphone และ Tablet ช่วยให้นักอ่านสามารถเข้าถึงหนังสือที่ตนต้องการได้ในราคาประหยัดและรวดเร็ว

ส่วนทางฝั่งผู้เขียนก็มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ช่วยเผยแพร่ผลงานได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็น Blog หรือ Social network รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่สะดวกอย่าง Amazon ในไทยก็จะมี Ookbee

การที่ไม่ต้องง้อสำนักพิมพ์ ก็ช่วยให้มือสมัครเล่น หรือคนที่ไม่มีชื่อเสียง (ก็พวกเรานี่แหละ) มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะทำเงินจากงานเขียนด้วยวิธีการ Self-Publishing ซึ่ง Blogger เมืองนอกหลายคนเลือกทำเงินจากวิธีนี้อย่าง Pat Flynn, Amanda Hocking และ Nick Loper

หากใครสนใจเรื่อง Self-Publishing โดยเฉพาะการตีพิมพ์อีบุ๊คด้วยตนเอง รอติดตามบทความและแนวทางได้ที่เว็บไซต์ START IT UP ครับ

Comments

comments