ถ้า Airbnb และ Uber เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แล้วอะไรคือก้าวต่อไปของ Sharing Economy

ใครที่สนใจสตาร์ทอัพในแวดวง Sharing Economy ผมเคยเขียนเรื่องราวของสตาร์ทอัพเหล่านี้ไว้แล้วไม่ว่าจะเป็น Airbnb : มาทำความรู้จัก Airbnb สตาร์ทอัพการแบ่งปันที่พักชื่อดัง และ Uber: Travis Kalanick ชายผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมขนส่ง ด้วยสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกนาม Uber

หลายคนอาจจะมองว่า ณ ปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จ แต่พอเห็นหัวข้อบทความก็อดชวนสงสัยไม่ได้ว่า แล้วก้าวต่อไปล่ะธุรกิจเหล่านี้จะย่ำไปในทิศทางใด บทความนี้ผมแปลและเรียบเรียงใหม่บางส่วนจาก Entrepreneur.com หากคุณสนใจสามารถไปดูต้นฉบับได้ที่ท้ายบทความครับ

ปี 2014 เป็นปีที่ Uber ถูกนำเสนอในแง่ลบอย่างมากจากความขัดแย้ง และข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสวนทางกับมูลค่าของธุรกิจโตแบบก้าวกระโดด แม้จะมีอายุไม่ถึง 6 ปี แต่ Uber ก็ได้รับเงินทุนเพิ่มในปีนี้อีกหนึ่งหมื่นล้านเหรียญ และกลายเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ความสำเร็จนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความสามารถของธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ขับขี่และรัฐบาลท้องถิ่น แต่มันตอกย้ำความจริงที่ว่า แม้ว่าภาพลักษณ์ของ Uber จะดูแย่ แต่ธุรกิจกลับมี Business Model ที่แข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ ดังนั้น Uber ไม่เพียงแค่เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมขนส่งเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นธุรกิจตัวอย่างที่เจิดจรัสมากในแวดวง Sharing Economy

ตลาดของธุรกิจ Sharing Economy ในปี 2014 มีมูลค่ารวมกันคร่าว ๆ สูงถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญ และคาดว่าในปี 2025 มูลค่าของพวกมันจะแตะที่ 3.35 ล้านล้านเหรียญ ความสำเร็จของ Uber, Airbnb และ TaskRabbit ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่สิ่งเหล่านี้คือวิถีและโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ

Sharing Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่

โดยเนื้อแท้ไอเดียของ Sharing Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มองย้อนกลับไปสตาร์ทอัพอย่าง Napster eBay และ Craigslist ต่างถูกสร้างขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากไอเดียนี้ แต่ธุรกิจอย่าง Uber และ Airbnb นั้นต่อยอดไปอีกขั้นด้วยการใช้รูปแบบการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างผู้บริโภคในการสร้างตลาดแห่งการแบ่งปัน

นี่คือตัวอย่างของธุรกิจผู้บุกเบิกนวัตกรรม พวกเขาสร้างวิธีแก้ปัญหาสำหรับผู้บริโภคที่กำลังขัดสนในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ โดยเสนอรูปแบบการสร้างรายได้ที่ไม่เหมือนใครแก่ผู้คนที่ต้องการมีรายได้พิเศษ หรือมีตารางงานที่ยืดหยุ่น

ยกตัวอย่างเช่น Airbnb ถูกสร้างขึ้นจากความขัดสนของ CEO เองโดยการเปิดอพาร์ตเมนต์ให้คนอื่นเช่า (หาคนมาจ่ายค่าเช่าแทน) ในขณะที่ Uber ช่วยให้ผู้คนสามารถนำรถตัวเองออกมาใช้หาเงินสร้างรายได้ แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ให้เป็นภาระทางการเงิน

คุณค่าเหล่านี้ทำให้ผู้คนเต็มใจที่จะแบกรับความเสี่ยง โดยการขับรถส่งคนแปลกหน้า หรือให้ใครหน้าไหนก็ไม่รู้เข้ามาพักในที่พักของตน ช่องทางเหล่านี้ทำให้ผู้คนออกมาแบ่งปันทรัพยากรของตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บุกเบิกในธุรกิจ Sharing Economy ก็ยังคงมองหาความสำเร็จ รวมถึงแนวทางที่ธุรกิจจะวิวัฒนการต่อไปในอนาคตอันใกล้

แล้วก้าวต่อไปล่ะ

เรื่องราวของ Sharing Economy คงไม่จบเพียงแค่บริการเรียก Taxi และการให้เช่าที่พัก แต่มันยังสามารถขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคกับธุรกิจ และลูกจ้างกับนายจ้างอีกด้วย

ในฝั่งผู้บริโภคพวกเขาจะนำสิ่งที่มีอยู่มาแบ่งปันและรีไซเคิล ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดลดลง ดังนั้นแทนที่ธุรกิจจะต้องแข่งขันกันเอง กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องแข่งกับผู้บริโภคนับล้าน ที่เต็มใจให้เช่าสินค้าชนิดเดียวกันซึ่งมีราคาถูกกว่าต้นทุนของสินค้านั้น ๆ ประเด็นนี้ทำให้ต้นทุนการเป็นเจ้าของสิ่งของนั้นลดลง และส่งผลให้กำไรของธุรกิจนั้นลดลงไปด้วย

ในฝั่งของลูกจ้างกับนายจ้าง การจ้างงานมีแนวโน้มที่จะไม่ผูกมัดมากขึ้น เพราะผู้คนมีทางเลือกมากขึ้นที่จะปลีกตัวเองไปรับงาน part-time ดังนั้นคำว่า “Unemployment” หรือ “การว่างงาน” อาจถูกนิยามขึ้นมาใหม่ เนื่องจากผู้คนจะมีรูปแบบการทำงานเต็มเวลาที่แตกต่างกันในระบบ Sharing Economy ซึ่งแตกต่างจากการทำงานในวิถีเดิม ๆ

ในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นตลาดต่าง ๆ ใน Sharing Economy ที่มีประสิทธิภาพและถูกควบรวมมากขึ้น คล้ายกับการทำ Multi Channel Network ของ Youtube ซึ่งจะมีเครื่องมือและบริการใหม่ ๆ ผุดขึ้นมารองรับการทำธุรกิจใน Sharing Economy อีกมาก

ตัวอย่างเช่น Zen99 บริการที่ช่วยให้ผู้คนที่ทำงานในธุรกิจ Sharing Economy สามารถจัดการภาษีของตนเองได้ Checkr ให้บริการตรวจสอบประวัติแบบอัตโนมัติของบุคคลนั้น ๆ จะเห็นว่าบริการเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นรากฐานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในก้าวต่อไปของธุรกิจสาย Sharing Economy คือ การผันตัวเองไปเป็นโมเดลแบบ Hub-and-Spoke สำหรับให้บริการ โมเดลนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อตลาดเหล่านั้นมี API ที่จะเชื่อมต่อกับตลาดตัวอื่น ๆ ดังนั้นผู้บริโภคเพียงแค่เข้ามายังตลาดใดตลาดหนึ่งก็สามารถที่จะเข้าถึงบริการทั้งหมดที่ต้องการได้ทันที

ยกตัวอย่าง เช่น ผู้บริโภคอาจเข้ามาที่ OpenTable ไม่เพียงแค่จองโต๊ะในร้านอาหาร แต่ยังสามารถเรียกรถมารับจาก Lyft รวมถึงซื้อดอกไม้และจองห้องพักสักคืนได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าการเชื่อมต่อเหล่านี้จะสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับผู้ใช้ และยังช่วยให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่สำหรับผู้ที่อยากแบ่งปันทรัพยากรที่ตนเองมีอีกด้วย

ก้าวต่อไปของ Sharing Economy ยังเป็นโอกาสสำหรับบริการในแนวดิ่งของตลาดนั้น ๆ อีกด้วย (บริการในแนวดิ่ง คือ บริการที่เน้นขายความเชี่ยวชาญ) ยกตัวอย่างเช่น Laurel & Wolf ธุรกิจที่ทำตัวเหมือน 99designs สำหรับนักออกแบบภายใน ซึ่งศูนย์รวมเชื่อมโยงนักออกแบบภายในเข้าด้วยกัน ในการแก้ไขปัญหาการออกแบบที่พักให้กับลูกค้า นี่คือการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้คน

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะไม่มาถกเถียงกันถึงประโยชน์และอันตรายของธุรกิจ Sharing Economy เพราะมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งธุรกิจแบบดั้งเดิมอาจไม่เห็นด้วยและลุกขึ้นมาสู้ แต่นั่นก็หมายถึงการพร้อมที่จะยอมสูญเสีย ดังที่เราเห็นในเคสของ Uber มันมีทั้งความเจ็บปวด และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นธุรกิจ Sharing Economy ก็จะยังคงอยู่

ที่มา: Airbnb and Uber Are Just the Beginning. What’s Next for the Sharing Economy

Comments

comments