บทเรียนที่ผมได้รับจากการทำ Startup ตัวแรกนาม Letzwap

บทความนี้ผมเขียนขึ้นด้วยความตั้งใจที่อยากจะแชร์ประสบการณ์ของผมเอง ว่าผมได้เรียนรู้อะไรบ้างจากความล้มเหลวในการทำแอพ Letzwap ซึ่งผมหมายมั่นปั้นมือให้เป็น Startup แรกในชีวิตของผมหลังจากเรียนจบป.เอก

Letzwap เป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งผมได้ไอเดียนี้มาจากการแลกหนังสือกันอ่านระหว่างผมกับน้อง ๆ ในมหาวิทยาลัย ก่อนต่อยอดมาเป็นแลกอะไรก็ได้

ผมก็เหมือนกับใครอีกหลาย ๆ คนที่มีความฝันอยากสร้าง Product สักตัวที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน หรือยกระดับสังคมให้ดีขึ้น แต่พอลงมือทำจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดน่ะสิครับ มันมีทั้งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เกิดขึ้น จนบางทีผมตั้งตัวและรับมือแทบไม่ทัน แต่ด้วย Passion ที่ผมมีคือถ้าตั้งใจแล้วก็ต้องไปให้สุด ผมปล่อย Product ตัวนี้ออกไปสำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนผมก็ต้องปิดแอพตัวนี้ เพราะไปต่อไม่ได้ บทเรียนต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผมได้จากการทำ Startup ตัวแรกนาม Letzwap ครับ

Startup คือ การทำธุรกิจ

ผมเคยอ่านเรื่องราวของ Startup อย่าง Facebook, Twitter และ Instagram ผมมักคิดว่าการทำสตาร์ทอัพ คือ การสร้างนวัตกรรม หรือทำอะไรที่ไม่มีคนทำมาก่อน แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่ได้มีรายได้มาหล่อเลี้ยง ผู้ก่อตั้งเจียดเงินตัวเองมาเริ่มต้น และอาศัยเงินจากนายทุนมาประคอง ดังนั้น Mindset ของผมก่อนทำ Startup คือการมีแอพหรือซอฟต์แวร์สักตัวที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้

มุมมองของผมมันแคบมาก เนื่องจากเราอยู่แต่ในสายนักพัฒนาเรื่อง Business เราไม่ได้จับเลย พอผมเริ่มเขียนบล็อก START IT UP ผมก็พบความจริงว่า Startup โดยเนื้อแท้มันคือการทำธุรกิจ ธุรกิจที่สามารถทำซ้ำ และเติบโตแบบก้าวกระโดดได้นั่นคือ Startup

ถ้าไม่นับธุรกิจซอฟต์แวร์ ธุรกิจแฟรนไซส์คือตัวอย่างที่ดี เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัค ชายสี่หมี่เกี๊ยว เซเว่นอีเลเว่น ธุรกิจเหล่านี้มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดแบบซ้ำ ๆ จากการขายสินค้า ส่วนการเติบโตแบบก้าวกระโดด คือ การขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ หรือทั่วโลก เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าให้มาซื้อของแบบก้าวกระโดด ทำเงินให้ธุรกิจมากขึ้น

แต่เหตุที่ Startup ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ ก็เพราะต้นทุนในการขยายตัวแบบก้าวกระโดดต่ำกว่าธุรกิจที่มีหน้าร้าน ยกตัวอย่างเช่น สตาร์บัค 1 สาขามีลูกค้า 1,000 คน หากธุรกิจต้องการมีลูกค้า 10,000 คน สตาร์บัคต้องเปิดสาขาเพิ่มอีก 10 สาขา แค่ดูต้นทุนเราก็รู้แล้วว่าธุรกิจต้องลงเงินไปอีกหลายล้านบาท กลับกัน Facebook เพียงแค่ซื้อ Server ตัวเดียว ธุรกิจก็รองรับผู้ใช้จำนวนหลักหมื่นได้ในราคาไม่กี่หมื่นบาท ยิ่งคนเยอะรายได้จากโฆษณาของ Facebook ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และโฆษณาก็เป็นการซื้อซ้ำเรื่อย ๆ

คุณมี Business Model แล้วหรือยัง

ยอมรับตามตรงผมทำ Letzwap ในมุมมองของนักพัฒนา ทำให้ละเลยมุมมองด้านธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นปลายทางของผมก็ คือ ทำ Product เสร็จรอให้มีคนมาใช้ก่อน เดี๋ยวเรื่องรายได้ค่อยว่ากันทีหลัง ว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ หรือหาโฆษณามาลง

อย่างที่ผมกล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว Startup คือ การทำธุรกิจ และ Product ของธุรกิจก็คือคุณค่าที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะได้รับ (ว่ามันช่วยแก้ปัญหา หรือทำให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างไร) ซึ่งสอดคล้องกับ Business Model หรือรูปแบบการหารายได้ของธุรกิจ (ซึ่งไม่ได้มีแค่โฆษณากับค่าธรรมเนียม)

ในโลกแห่งความเป็นจริงธุรกิจอยู่ได้ด้วยเงินครับ ซึ่งต่างจากกรณีของ Facebook, Twitter และ Instagram ที่ถึงแม้จะไม่มี Business Model ที่ทำเงินตอนแรก แต่ Startup เหล่านี้กลับดึงดูดผู้ใช้จำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนักลงทุนมองว่าหากเอาโฆษณาไปลงแปบเดียวก็ได้กำไรกลับมาแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนจึงยอมลงทุนให้กับ Startup ที่ยังไม่ทำเงินเหล่านี้

ย้อนกลับมาที่ธุรกิจเราเอง หากเราไม่สามารถหาลูกค้าและเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้จากคุณค่าที่เราส่งมอบ ก็อย่าได้หวังพึ่งเงินทุนจากภายนอก การระดมทุนจากนักลงทุน คือ ช่วงที่ธุรกิจได้ผ่านขั้นตอนการพิสูจน์ไอเดียมาแล้วว่าคุณค่าของธุรกิจนั้นมีคนซื้อ (มี Business Model รองรับ) และธุรกิจต้องการเงินเพื่อการขยายตัวแบบก้าวกระโดด

Passion อย่างเดียวไม่พอต้องมีทีมกับเงินด้วย

โปรเจ็คนี้ผมใช้เวลา 8 เดือนในการทำทุกอย่างด้วย Passion ที่ผมมี ตั้งแต่สร้างแอพ, คอนฟิก Server, สร้างฐานข้อมูล และเขียน API ฝั่ง Server เพื่อเชื่อมต่อกับแอพ, ออกแบบเว็บไซต์ Letzwap, ทดสอบแอพ, เขียน Blog, ติดต่อเว็บไซต์ภายนอกอย่าง Blognone และ Droidsans ให้ช่วยลงข่าวประชาสัมพันธ์ให้ และอีกสารพัดเท่าที่จะทำให้แอพ Launch ออกไปได้

Letzwap คือความฝันของผม ดังนั้นจึงผมยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ Letzwap ไปถึงปลายทางของมัน คือ ปล่อยแอพลง Play Store ให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพเพื่อแลกของกัน บทเรียนที่ผมได้รับขอแบ่งเป็น 2 หัวข้อ

ทีม และ Co-founder

การมี Co-Founder และทีมเป็นสิ่งสำคัญในการทำสตาร์ทอัพ แม้ว่าธุรกิจจะสามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ปัญหาที่ผมเจอ คือ การทำ Startup ของผมไม่ได้มีหลักประกันให้กับสมาชิกในทีมว่าสิ่งที่ทำมันจะรุ่ง ทุกคนต่างต้องการความแน่นอนในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ เพื่อเลี้ยงชีพ และดูแลครอบครัว

ทุกวันนี้หายากมากหากจะหาใครสักคนมาร่วมหัวจมท้ายกับคุณ โดยไม่มีอะไรมาการันตีความอยู่รอดในอนาคต ดังนั้นน้อง ๆ และเพื่อน ๆ ที่ผมดึงมาร่วมทีมด้วยจึงค่อย ๆ หายไปหางานประจำทำกันหมด สุดท้ายเหลือผมคนเดียวที่ยังเดินหน้าต่อด้วย Passion ที่ผมมี

บทเรียนนี้ คือ การทำ Startup ควรมี Co-Founder มาช่วยเสริมในจุดที่เราขาดไป รวมถึงช่วยออกความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ส่วนเรื่องทีมหากไม่มีเงิน Support ให้เริ่มจากทีมเล็ก ทำงานจากที่บ้านของแต่ละคนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งทีมและ Co-Founder สำคัญเลยคือต้องมี Passion ในทำธุรกิจร่วมกัน เข้าใจธรรมชาติของการทำธุรกิจ Startup และยอมร่วมหัวจมท้าย ไม่อย่างนั้นก็อย่ามาร่วมลงเรือลำเดียวกันตั้งแต่แรกเลยจะดีกว่า

เงินทุนตอนสตาร์ทธุรกิจ

คุณจะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจจะต้องมีเงินทุนตอนสตาร์ทด้วย ถ้าไม่นับค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ กับค่าเน็ต เงินที่ผมต้องจ่ายไปคือค่าจดโดเมนกับเช่าโฮสต์ การที่ผมไม่มีเงินทำให้ผมทำได้แค่แอพฝั่ง Android เท่านั้นและใช้เวลานานถึง 8 เดือน ซึ่งผมถือว่านานเกินไป ธุรกิจ Startup ต้องเร็ว งานไหนที่เราไม่ถนัดก็ให้กระจายออกไปจ้างคนอื่นทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำกราฟิก พัฒนาแอพบน iOS และทดสอบแอพ หากเราไม่มีทีม Support ส่วนนี้ ทุกอย่างต้องใช้เงินเพื่อร่นเวลาที่ใช้ปล่อย Product

อย่างไรก็ตาม หากคุณทุนน้อยแบบผม และต้องการเริ่มต้นธุรกิจ Startup ผมแนะนำให้คุณทดสอบไอเดียธุรกิจด้วยการทำ MVP (ซึ่งผมพลาดไม่ได้ทำเรื่องนี้) ผมเคยเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับ MVP ไว้ไปตามอ่านกันได้ที่นี่ MVP เรื่องที่คนทำสตาร์ทอัพควรรู้

คู่แข่งอยู่ใกล้แค่ปลายจมูก

จริง ๆ แอพสำหรับแลกของมันก็มีมานานแล้วนะ เพียงแต่เป็นเว็บแอพเท่านั้นเอง ซึ่งในไทยมีแค่เว็บเดียว คือ Coolswop ส่วนต่างประเทศน่ะเหรอมีเต็มไปหมดทั้งเว็บทั้งแอพ ลอง Search หาใน Google ได้

Letzwap ผมได้ไอเดียจากการอยากจะมีแอพกลางไว้แลกหนังสือกับน้อง ๆ ที่มหาวิทยาลัยอ่าน ก่อนที่จะขยายมาเป็นแลกอะไรก็ได้ ก่อนที่จะลงมือพัฒนาผมก็ลองไปศึกษาแอพแนวเดียวกันเพื่อดูฟีเจอร์ที่ควรจะมี และนำมาปรับใช้กับ Letzwap

การที่ผมไม่ได้ทำ MVP ช่วงเริ่มต้นพัฒนา Product ทำให้ Letzwap มีฟีเจอร์เยอะแยะไปหมด และใช้เวลาทำนานเสียด้วย สุดท้ายผมทำสำเร็จมีคนใช้ (น้อยมาก) ผมท้อมากเนื่องจากผมลุยเดี่ยว และไม่มีไอเดียอีกแล้วว่าจะต่อยอดไปทางไหน และทำเงินอย่างไรกับแอพตัวนี้

ที่เจ็บปวดที่สุด คือ คู่แข่งอยู่ใกล้ปลายจมูกเอง คือ Facebook Group ชื่อกลุ่ม “แลกกันมา แลกกันไป” และอีกหลาย ๆ กลุ่ม แต่ผมขอเน้นกลุ่มนี้ เพราะมีสมาชิกกว่า 31,000 คน แม่เจ้าเยอะกว่าจำนวนผู้ใช้แอพผมประมาณ 130 เท่าได้ ทุกวันมีคน Active แลกของกันตลอดไม่ต่ำกว่า 10-20 โพสต์ต่อวัน การแลกก็ง่ายมาก แค่มีคนโพสต์ของขึ้นมาแลก ก็มีคนมา Comment เสนอของแลกต่อท้าย อะไรมันจะง่ายขนาดนั้น ผมตระหนักได้ทันทีเลยว่าคู่แข่งผมมันไม่ใช้แอพเมืองนอกหรอก แต่เป็น Facebook นี่แหละ

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึง Foursquare Startup ปลุกกระแสการ Check-in ในยุคโมบายอินเทอร์เน็ต แต่ก็ต้องมาตายเพียงเพราะ Facebook เพิ่มฟีเจอร์ Check-in ของตัวเองเข้ามา หรือแม้กระทั้ง SocialCam ที่เพิ่งปิดตัวไป เพราะสู้ Facebook ที่อนุญาตให้ผู้ใช้โพสต์ Video ไม่ได้

บทเรียนนี้ทำให้ผมตระหนักได้ว่า การทำธุรกิจ Startup เราต้องมองธุรกิจให้รอบด้านมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะคู่แข่งทางตรงเท่านั้น แต่คู่แข่งทางอ้อมอย่าง Facebook, Line, Instagram หรือ Google อาจจะมีบางส่วนของผลิตภัณฑ์พวกเขาที่เกี่ยวทับผลิตภัณฑ์ของเราและอาจทำให้ธุรกิจเราดับสูญได้ทันที

ส่งท้าย

Fail Fast, Succeed Faster ยังเป็นวลีที่ใช้ได้ดีสำหรับการทำธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ที่ฝรั่งชอบบอกว่า “ยิ่งคุณล้มเหลวมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” แต่ที่สำคัญก็คือเราได้เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวที่เราประสบ

สำหรับผมมันเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้ผมมาเริ่มเขียนบล็อก START IT UP ตัวนี้ขึ้น ด้วยความอยากรู้อยากเห็นที่ว่า แท้จริงแล้ว Startup คืออะไร ทำไมเราต้องทำ MVP อะไรคือแนวคิด Lean Startup แล้วผู้ประกอบการคนอื่นเขาล้มเหลวแบบเราหรือไม่ (ซึ่งก็มีเยอะแยะ และเป็นเรื่องปกติ) ทำอย่างไรที่เราจะล้มเหลวน้อยลง และลุกขึ้นมาไล่ล่าความสำเร็จได้เร็วขึ้น

Comments

comments