MVP เรื่องที่คนทำสตาร์ทอัพควรรู้

ผมยอมรับว่าผมพลาดอย่างแรงที่ไม่ยอมศึกษา MVP ก่อนทำ Letzwap ด้วยมุมมองพนักงานประจำหรือ Freelance ทำให้เราติดกับดักที่ว่า “ทำไปก็มีคนใช้” แน่นอนว่าเราไม่มีความเสี่ยงเลยในเรื่องของการตลาด ลูกค้าเราเป็นคนจัดการเสร็จสรรพ เราเพียงทำงานเสร็จรับเงิน จบจากกัน หรืออาจดูแลบำรุงรักษาให้ไม่กี่เดือน

แต่ในมุมผู้ประกอบการมันมีความเสี่ยงกับคำถามที่ว่า “ทำไปแล้วมีคนใช้หรือเปล่า” เพราะมันมีการลงทุน เงิน แรง และเวลา การศึกษาผู้ใช้เราเรียนแค่ในตำรา รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ควรทำนะ แต่ไม่ได้ลงมือจริง เราโฟกัสแต่เรื่อง Coding ทำไงให้ได้แอพหรือ Product ออกมา แต่ละเลยเรื่องตลาดและประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งอย่างหลังเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในระยะยาวครับ

การทำธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน MVP หรือ Minimum Viable Product ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน หรือประเมินตลาด (Market Validation) ได้อย่างรวดเร็วว่า Product นั้นจะรุ่งหรือร่วง

ทุกวันนี้ Lean Startup และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างใช้ MVP เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างซอฟต์แวร์ให้ประสบความสำเร็จ โดยโฟกัสไปที่ฟีเจอร์และฟังก์ชั่นหลักสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Product) เท่านั้น ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนด Core หลักที่ทำให้ Product สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ หากธุรกิจไม่สามารถหา Core หลักที่ว่านี้เจอ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องเสี่ยงกับสร้าง Product ที่ตลาดไม่ยอมรับได้

MVP คืออะไร

MVP ย่อมาจาก Mininum Viable Product แต่มักถูกพูดถึงหรือหยิบมาใช้แบบเข้าใจผิด ๆ อยู่เสมอ โดยทั่วไปธุรกิจมักเข้าใจผิดว่า MVP คือ ชุดฟีเจอร์จำนวนน้อยที่สุด (a set of minimum features) ที่เพียงพอให้ซอฟต์แวร์สามารถใช้งานได้ เพื่อที่จะเข็นซอฟต์แวร์นั้นออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ความเข้าใจผิดนี้ส่งผลให้ธุรกิจไปเน้นเรื่องของเวลาและความเร็วในการส่งซอฟต์แวร์เข้าสู่ตลาด ทำให้ละเลยในส่วนของลูกค้าและการยอมรับของตลาดไปอย่างน่าเสียดาย แท้จริง MVP คือ การขจัดส่วนเกินของ Product ออกไป เหลือไว้เฉพาะคุณค่าที่แท้จริงของมันที่ลูกค้าจะได้รับต่างหาก

มีคนให้คำนิยามเกี่ยวกับ MVP มากมาย แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ MVP ที่นิยามโดย Steve Blank และ Eric Ries โดย MVP คือ ฟีเจอร์อย่างน้อยที่สุดของ Product ที่คุณสามารถใช้มันประเมินตลาดได้

ใครยังนึกภาพไม่ออก ดูรูปต่อไปนี้ นี่เป็นรูปที่สื่อถึงการทำ MVP ได้ดีมากครับ

MVP เรื่องที่คนทำสตาร์ทอัพควรรู้Photo credit: Actually MVP

รูปด้านบน ถ้าเป้าของคุณ คือ การสร้างรถยนต์เพื่อช่วยผู้คนเดินทางสบายขึ้น ผมถามว่าถ้าคุณเริ่มทำล้อก่อน คุณสามารถนำไปใช้ประเมินตลาดได้ไหม อะไรคือคุณค่าของล้อที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คน และกว่าจะเป็นรถยนต์ทั้งคันมันใช้เวลานานมาก สุดท้ายเราลงทุน ลงแรงและเวลาไปตั้งเยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่ามีคนต้องการมันจริงหรือไม่

ต่างจากรูปล่างที่เริ่มจาก Skateboard สร้างขึ้นมาแบบง่าย ๆ สามารถนำไปทดสอบตลาดได้เร็ว เพื่อดูว่ามัน work ไหมที่จะช่วยให้ผู้คนเดินทางสบายขึ้น ก่อนที่จะนำมาต่อยอด ปรับปรุง และทดสอบตลาดไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นรถยนต์ทั้งคันที่ตลาดยอมรับ

ข้อดีของการทำ MVP

  • สามารถทดสอบสมมติฐาน โดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด: การสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาดหรือสมมติฐาน ช่วยให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนเงินและเวลามากมายไปกับการพัฒนาซอฟแวร์ออกสู่ตลาด ที่มีความเสียงคืออาจไม่มีคนใช้
  • เร่งการเรียนรู้: การทดสอบสมมติฐานช่วยให้เราได้คำตอบเกี่ยวกับ Product ที่เราจะทำว่ามัน work หรือไม่ work จุดนี้ช่วยให้เราสามารถปรับปรุง ต่อยอด หรือทดสอบสมมติฐานใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
  • ลดการเสียเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนา: การลดเวลา coding หรือการเขียนซอฟต์แวร์ โดยเน้นแค่เฉพาะฟีเจอร์ที่น้อยที่สุดซึ่งเป็นแก่นของ Product เท่านั้น
  • ส่งให้ถึงมือลูกค้าเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้: ทั้งนี้เพื่อเก็บ feedback จากลูกค้า รวมถึงเป็นการทดสอบสมมติฐานด้วยว่า สุดท้ายแล้วลูกค้ายอมรับ Product หรือไม่

สรุป

MVP คือ การสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาด โดยการส่งมอบฟีเจอร์นั้นให้กับลูกค้าอย่างเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ทำ Product ออกมาไม่มีคนใช้ MVP แล้ว ยังช่วยเร่งการเรียนรู้ให้ธุรกิจสามารถค้นพบว่า Product นั้นมีแวว Success หรือ Fail ได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การต่อยอด ปรับปรุง หรือแก้ไขต่อไป

การทำ MVP มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ใครสนใจลองศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ บทความหน้าผมจะช่วยให้คุณเห็นภาพการทำ MVP ได้ชัดเจนมากขึ้น จากกรณีศึกษา 10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP คุณจะได้รู้ว่าการสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาดนั้น ไม่จำเป็นต้องเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาก่อนเสมอไป แต่ละเจ้ามีเทคนิควิธีการใช้ MVP อย่างไร ไปตามอ่านกันได้เลยครับ

Comments

comments