ผมยอมรับว่าผมพลาดอย่างแรงที่ไม่ยอมศึกษา MVP ก่อนทำ Letzwap ด้วยมุมมองพนักงานประจำหรือ Freelance ทำให้เราติดกับดักที่ว่า “ทำไปก็มีคนใช้” แน่นอนว่าเราไม่มีความเสี่ยงเลยในเรื่องของการตลาด ลูกค้าเราเป็นคนจัดการเสร็จสรรพ เราเพียงทำงานเสร็จรับเงิน จบจากกัน หรืออาจดูแลบำรุงรักษาให้ไม่กี่เดือน

แต่ในมุมผู้ประกอบการมันมีความเสี่ยงกับคำถามที่ว่า “ทำไปแล้วมีคนใช้หรือเปล่า” เพราะมันมีการลงทุน เงิน แรง และเวลา การศึกษาผู้ใช้เราเรียนแค่ในตำรา รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ควรทำนะ แต่ไม่ได้ลงมือจริง เราโฟกัสแต่เรื่อง Coding ทำไงให้ได้แอพหรือ Product ออกมา แต่ละเลยเรื่องตลาดและประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งอย่างหลังเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดของธุรกิจสตาร์ทอัพในระยะยาวครับ

การทำธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน MVP หรือ Minimum Viable Product ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน หรือประเมินตลาด (Market Validation) ได้อย่างรวดเร็วว่า Product นั้นจะรุ่งหรือร่วง

ทุกวันนี้ Lean Startup และบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างใช้ MVP เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างซอฟต์แวร์ให้ประสบความสำเร็จ โดยโฟกัสไปที่ฟีเจอร์และฟังก์ชั่นหลักสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Product) เท่านั้น ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนด Core หลักที่ทำให้ Product สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ หากธุรกิจไม่สามารถหา Core หลักที่ว่านี้เจอ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องเสี่ยงกับสร้าง Product ที่ตลาดไม่ยอมรับได้

MVP คืออะไร

MVP ย่อมาจาก Mininum Viable Product แต่มักถูกพูดถึงหรือหยิบมาใช้แบบเข้าใจผิด ๆ อยู่เสมอ โดยทั่วไปธุรกิจมักเข้าใจผิดว่า MVP คือ ชุดฟีเจอร์จำนวนน้อยที่สุด (a set of minimum features) ที่เพียงพอให้ซอฟต์แวร์สามารถใช้งานได้ เพื่อที่จะเข็นซอฟต์แวร์นั้นออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ความเข้าใจผิดนี้ส่งผลให้ธุรกิจไปเน้นเรื่องของเวลาและความเร็วในการส่งซอฟต์แวร์เข้าสู่ตลาด ทำให้ละเลยในส่วนของลูกค้าและการยอมรับของตลาดไปอย่างน่าเสียดาย แท้จริง MVP คือ การขจัดส่วนเกินของ Product ออกไป เหลือไว้เฉพาะคุณค่าที่แท้จริงของมันที่ลูกค้าจะได้รับต่างหาก

มีคนให้คำนิยามเกี่ยวกับ MVP มากมาย แต่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ MVP ที่นิยามโดย Steve Blank และ Eric Ries โดย MVP คือ ฟีเจอร์อย่างน้อยที่สุดของ Product ที่คุณสามารถใช้มันประเมินตลาดได้

ใครยังนึกภาพไม่ออก ดูรูปต่อไปนี้ นี่เป็นรูปที่สื่อถึงการทำ MVP ได้ดีมากครับ

Photo credit: Actually MVP

รูปด้านบน ถ้าเป้าของคุณ คือ การสร้างรถยนต์เพื่อช่วยผู้คนเดินทางสบายขึ้น ผมถามว่าถ้าคุณเริ่มทำล้อก่อน คุณสามารถนำไปใช้ประเมินตลาดได้ไหม อะไรคือคุณค่าของล้อที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คน และกว่าจะเป็นรถยนต์ทั้งคันมันใช้เวลานานมาก สุดท้ายเราลงทุน ลงแรงและเวลาไปตั้งเยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่ามีคนต้องการมันจริงหรือไม่

ต่างจากรูปล่างที่เริ่มจาก Skateboard สร้างขึ้นมาแบบง่าย ๆ สามารถนำไปทดสอบตลาดได้เร็ว เพื่อดูว่ามัน work ไหมที่จะช่วยให้ผู้คนเดินทางสบายขึ้น ก่อนที่จะนำมาต่อยอด ปรับปรุง และทดสอบตลาดไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นรถยนต์ทั้งคันที่ตลาดยอมรับ

ข้อดีของการทำ MVP

  • สามารถทดสอบสมมติฐาน โดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด: การสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาดหรือสมมติฐาน ช่วยให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนเงินและเวลามากมายไปกับการพัฒนาซอฟแวร์ออกสู่ตลาด ที่มีความเสียงคืออาจไม่มีคนใช้
  • เร่งการเรียนรู้: การทดสอบสมมติฐานช่วยให้เราได้คำตอบเกี่ยวกับ Product ที่เราจะทำว่ามัน work หรือไม่ work จุดนี้ช่วยให้เราสามารถปรับปรุง ต่อยอด หรือทดสอบสมมติฐานใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
  • ลดการเสียเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนา: การลดเวลา coding หรือการเขียนซอฟต์แวร์ โดยเน้นแค่เฉพาะฟีเจอร์ที่น้อยที่สุดซึ่งเป็นแก่นของ Product เท่านั้น
  • ส่งให้ถึงมือลูกค้าเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้: ทั้งนี้เพื่อเก็บ feedback จากลูกค้า รวมถึงเป็นการทดสอบสมมติฐานด้วยว่า สุดท้ายแล้วลูกค้ายอมรับ Product หรือไม่

สรุป

MVP คือ การสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาด โดยการส่งมอบฟีเจอร์นั้นให้กับลูกค้าอย่างเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่ทำ Product ออกมาไม่มีคนใช้ MVP แล้ว ยังช่วยเร่งการเรียนรู้ให้ธุรกิจสามารถค้นพบว่า Product นั้นมีแวว Success หรือ Fail ได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การต่อยอด ปรับปรุง หรือแก้ไขต่อไป

การทำ MVP มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ใครสนใจลองศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ บทความหน้าผมจะช่วยให้คุณเห็นภาพการทำ MVP ได้ชัดเจนมากขึ้น จากกรณีศึกษา 10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP คุณจะได้รู้ว่าการสร้างฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาดนั้น ไม่จำเป็นต้องเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาก่อนเสมอไป แต่ละเจ้ามีเทคนิควิธีการใช้ MVP อย่างไร ไปตามอ่านกันได้เลยครับ

Comments

comments