เก็บตกประเด็นการเกลียดโฆษณาของสองผู้ก่อตั้ง WhatsApp

No Ads! No Games! No Gimmicks! ข้อความนี้ที่สะท้อนให้พวกเราเห็นถึงเข็มทิศในการทำ Product ของ Jan Koum และ Brian Acton สองผู้ก่อตั้ง WhatsApp บริการรับส่งข้อความชื่อดัง ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้ประวัติชีวิตของพวกเขาเลย

เช่นเคยเพื่ออรรถรสในการอ่านที่ดี ผมแนะนำให้คุณอ่านบทความ จากผ้าขี้ริ้ว สู่มหาเศรษฐี Jan Koum ผู้ก่อตั้ง WhatsApp สตาร์ทอัพ แอพแชทชื่อดัง เพื่อทำความรู้จักกับ Koum และ Acton รวมถึงเรื่องราวการก่อตั้ง WhatsApp เพราะบทความนี้ผมเก็บตกประเด็นสำคัญให้จากบทความข้างต้น หากใครพร้อมแล้วมาติดตามกันได้เลยครับ

ธุรกิจไม่ทำเงิน แล้วไง!

ก่อนที่ Facebook จะเข้าซื้อ WhatsApp บรรดาบริษัทในซิลิคอน วัลเลย์ ต่างวิพากษ์วิจารณ์สตาร์ทอัพรายนี้ว่ายังเป็นธุรกิจที่ไม่ทำเงิน พวกเขาทำนายว่า การที่ WhatsApp จะทำเงินได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญ คือ ต้องขายกิจการให้กับ Google หรือ Facebook หรือยอมให้นักลงทุนจากภายนอกเข้ามาลงทุน ซึ่งทั้ง 2 กรณีก็ไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนั้น

สองผู้ก่อตั้ง WhatsApp เคยพูดคุยกับนักลงทุนจากภายนอก แต่ก็ต้องปฏิเสธไป เพราะคนเหล่านั้นต่างต้องการให้ WhatsApp หารายได้จากโฆษณา และบอกว่า WhatsApp จะต้องล้มเหลวหากไม่ยอมให้มีโฆษณาในแอพ

กระนั้นความสำเร็จของ WhatsApp ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าซิลิคอน วัลเลย์คิดผิด บริษัทยังคงอยู่รอดได้ด้วยการทำงานแบบ Lean คือ ดำเนินการด้วยพนักงานเพียง 30 คน ซึ่งพวกเขาจ้างคนรัสเซีย เนื่องจากค่าแรงถูกและทำงานดี และข้อความ No Ads! No Games! No Gimmicks! ที่แปะไว้บนโต๊ะทำงานของ Koum ก็บอกได้ทันทีว่า WhatsApp ต้องการโฟกัสไปที่การทำ Product มากกว่าการทำเงิน

สองผู้ก่อตั้ง WhatsApp เกลียดโฆษณาเข้าไส้

เก็บตกประเด็นการเกลียดโฆษณาของสองผู้ก่อตั้ง WhatsAppPhoto credit: Jan Koum and Brian Acton: The unlikely founders behind WhatsApp’s rise

ประสบการณ์การทำงานที่ Yahoo! กว่า 9 ปี ทำให้สองผู้ก่อตั้ง WhatsApp มุ่งไปที่การสร้างบริการรับส่งข้อความที่เรียบง่าย มากกว่าบริการที่สูบข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เพื่อนำไปใช้กับโฆษณา โดย Koum เขียนใน Blog ว่า

“คงไม่มีใครตื่นเต้นที่จะตื่นขึ้นมาดูโฆษณา และก่อนเข้านอนก็คงไม่มีใครคิดว่าพรุ่งนี้จะได้ดูโฆษณาอะไรบ้าง”

ในช่วงปี 2013 รายได้ของ WhatsApp อยู่ที่ระดับร้อยล้านไม่มากกว่านั้น ซึ่งมาจากผู้ใช้แอพราว 450 ล้านคนต่อเดือน Business Model ของ WhatsApp คือ ปีแรกให้ใช้ฟรี และปีต่อ ๆ ไปจ่ายปีละ 0.99 เหรียญ

ดังนั้นเมื่อมีผู้ใช้ถามว่าทำไม WhatsApp ถึงเก็บเงิน Koum จึงถามกลับไปว่า “คุณได้ลองพิจารณาตัวเลือกอื่นหรือยัง”

คำถามนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องของ Privacy ซึ่ง Koum ให้ความสำคัญมาก เพราะประสบการณ์ในวัยเด็กที่ยูเครน ซึ่งมีการดักฟังโทรศัพท์ เขาเสริมว่า “ข้อมูลส่วนตัวของคุณ จะถูกบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Yahoo! Google หรือ Facebook เก็บรวบรวม และประมวลผล เพื่อให้ได้โฆษณาที่ดีขึ้น โดนใจคุณมากขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยให้ชีวิตใครดีขึ้นเลย”

ดังนั้น WhatsApp จึงไม่มีการเก็บข้อมูล ผู้ใช้ไม่ต้องมากรอก ชื่อ เพศ ที่อยู่ อายุ และแน่นอนไม่ต้องใช้ Username แค่ใช้ตัวเลขเบอร์โทร 10 หลักก็พอแล้ว (การไม่ใช้ Username และ Password มาจากเหตุการณ์ตอนที่ Koum ลืม Account ของ Skype และไม่สามารถ Login เข้าใช้งานได้)

นอกจากการทำ Product นิสัยการเกลียดโฆษณาเข้าไส้ของผู้ก่อตั้ง WhatsApp ยังปรากฎให้เห็นในมุมมองอื่น ๆ เช่น สำนักงานไม่มีป้ายบอกว่านี่คือ WhatsApp รวมถึงไม่มีการโปรโมตหรือออกสื่อใด ๆ เพื่อให้ WhatsApp เป็นที่รู้จัก

ทำไม WhatsApp ถึงแตกต่างและได้รับความนิยม

ในสมัยนั้น WhatsApp เป็นบริการรายแรก ที่ให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อความข้ามประเทศหากันได้ฟรีแบบ Cross-platform อีกทั้งการใช้เพียงเบอร์โทรเพื่อ Login เข้าใช้งาน เหล่านี้ คือ ความแตกต่างที่ยังไม่มี Product ตัวไหนทำ

เก็บตกประเด็นการเกลียดโฆษณาของสองผู้ก่อตั้ง WhatsAppPhoto credit: How whatsapp was created ?

อีกหนึ่งจุดขายที่ทำให้ WhatsApp ได้รับความนิยม คือ เรื่องการออกแบบ WhatsApp ใช้ UI แบบเดียวกับสมุดโทรศัพท์บน iPhone และแอพยังยังเชื่อมต่อกับรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกดโทรออกได้ทันที

สุดท้ายความเรียบง่ายในการใช้งาน การไม่เก็บข้อมูลของผู้ใช้ และการไม่มีโฆษณา คือ สิ่งที่ผู้ใช้รับรู้ได้และเกิดกระแสบอกต่อ Word-of-mouth ทำให้ WhatsApp ได้รับความนิยมในที่สุด

สรุป

การให้ความสำคัญเรื่อง Privacy และไม่ยอมให้มีโฆษณาในแอพ แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ที่ Koum และ Brian มีต่อผู้ใช้ได้ พวกเขาเน้นไปที่การพัฒนา Product ให้ใช้งานง่ายมากกว่าเป็นธุรกิจที่ทำเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้เข้าใจและยอมจ่ายเงินให้ รวมถึงเกิดกระแสบอกต่อทำให้ WhatsApp ได้รับความนิยมในที่สุด

Comments

comments