บทเรียนสำหรับสตาร์ทอัพ จาก Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram

จากความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Instagram ในยอดของผู้ใช้ และการถูกซื้อโดย Facebook ด้วยเงิน 1 พันล้านเหรียญในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของโชค แต่ Kevin และ Mike สองผู้ก่อตั้งบอกว่าพวกเขาอาจจะมีโชคในการทำธุรกิจ แต่สำหรับ Instagram มันไม่เกี่ยวกับโชค 100% และนี่คือประเด็นที่คนทำสตาร์ทอัพควรรู้จากเรื่องราวของ Kevin Systrom

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก Kevin Systrom ผมแนะนำให้คุณอ่านบทความ ไม่มีคำว่าสายที่จะเริ่มต้นอีกครั้ง สำหรับ Kevin Systrom ผู้ให้กำเนิด Instagram แอพถ่ายรูปอันดับ 1 ของโลก เพื่ออรรถรสในการอ่านที่ดี

เริ่มต้นจากปัญหา

หาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงให้เจอ และอย่ากลัวที่จะใช้วิธีการง่าย ๆ ในการแก้ปัญหาที่ง่าย ซึ่ง Instagram มุ่งแก้ปัญหา 3 อย่างที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ใช้ คือ

  • ถ่ายรูปจากมือถือให้สวย (ผู้คนไม่สามารถถ่ายรูปสวย ๆ ได้จากมือถือ)
  • แชร์รูปไปยัง Social Network หลายตัวพร้อม ๆ กัน (ไม่มีแอพไหนแชร์รูปไปยังหลาย Social Network พร้อมกันได้)
  • อัพโหลดรูปที่รวดเร็ว (แอพถ่ายรูปในตลาด ใช้เวลาอัพโหลดรูปนาน)

Solution ทั้ง 3 มาจากการ Research แอพถ่ายรูปยอดนิยมในตลาดทุกตัว ก่อนที่จะมาลงมือทำ Instagram

อย่ากลัวที่จะปรับเปลี่ยน

ย้อนกลับไปที่แอพ Burbn ซึ่งมี Traction ไม่เยอะ และผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็สนใจการโพสต์รูป มากกว่า Check-in การสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้ทำให้ Kevin ยอมปรับเปลี่ยน (Pivot) จาก Burbn มาเป็น Instagram

บทเรียนสำหรับสตาร์ทอัพ จาก Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง InstagramPhoto credit: How Validated Learning Makes You a Smarter UX Designer

การเฝ้าดูและสังเกตว่าผู้ใช้ชอบอะไร และไม่ชอบอะไรใน Product ของคุณ คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำ มันทำให้คุณตัดสินใจได้ว่าควรตัดฟีเจอร์อะไรออก และควรโฟกัสฟีเจอร์อะไร เพราะ “พฤติกรรมส่งเสียงได้ดังกว่าคำพูด” และ “ผลตอบรับก็มาจากพฤติกรรม”

คุณไม่จำเป็นต้องมีทีมใหญ่เพื่อสร้างสิ่งที่ใหญ่ยิ่ง

Kevin ให้สัมภาษณ์หลังจากถูก Facebook ซื้อกิจการ ว่าเขาคิดผิดเรื่องการใช้ทีมขนาดเล็ก คือ ถ้าตอนนั้นจ้างคนมากขึ้น ไม่แน่ว่าจำนวนผู้ใช้อาจพุ่งไปมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าก็เป็นได้ แต่ทีมเล็ก ๆ คือจุดแข็งที่สุดของ Instagram

ย้อนกลับไปในปี 2011 Kevin ไม่ได้นึกถึงว่าจะต้องจ้างคนมาก ๆ เข้ามาร่วมทีม เขาเชื่อว่าคุณภาพนั้นสำคัญกว่าปริมาณ โดยการหาคนที่เป็นเลิศในด้านนั้น ๆ มาทำงานไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ หรือวิศวกร เพราะพนักงานชั้นเลิศเพียง 1 คน สามารถทำงานได้เทียบเท่าพนักงานระดับกลาง ๆ ถึง 5 คน

บทเรียนสำหรับสตาร์ทอัพ จาก Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง InstagramPhoto credit: ผู้ก่อตั้งอินสตราเเกรม KEVIN SYSTROM

จ้างคนที่ฉลาดและมี Passion

ทำไมคุณควรจ้างคนที่ฉลาด เพราะคนเหล่านั้นสามารถแสดง Passion หรือความหลงใหลออกมา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้

ที่ Instagram มีการทำงาน เพื่อแก้ปัญหากันเป็นทีม ดังนั้นจำเป็นมากที่ธุรกิจควรจ้างคนฉลาด และมีศักยภาพ เพราะเมื่อคุณไปนั่งทำงานใกล้ใครสักคน ทั้งสองควรสามารถช่วยแก้ปัญหาซึ่งกันและกันได้

คุณไม่ได้แค่เริ่มทำ Product แต่คุณยังเริ่มทำบริษัทด้วย

การมุ่งเน้นไปที่การทำ Product เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าการทำบริษัทก็ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่การสรรหาคนมาร่วมทีม สนับสนุนการทำงานร่วมกัน ลดแรงกดดัน รวมถึงการตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ

นี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบการหลายเจ้าถึงไปลงเรียนคอร์ส Business ก็เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องของ บัญชี จริยธรรมในการทำธุรกิจ ข้อกฎหมาย และการตลาด ดังนั้นนอกเหนือจากการทำ Product คุณควรเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย

อธิบายสิ่งที่คุณทำให้ได้ภายใน 30 วิ

การทำธุรกิจโดยเฉพาะการพัฒนาแอพ แม้ Product จะมีความซับซ้อนมากเพียงใด แต่เมื่อปล่อยออกไปสู่ตลาด คุณควรอธิบาย Product ให้ผู้ใช้เข้าใจให้ได้ภายใน 30 วิ สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะมันคือบอกถึง Core หลักของ Product ที่ช่วยให้คุณตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป

คล้ายกับการ Pitch ในลิฟต์ สิ่งที่คุณนำเสนอ ภายใน 30 วิ คือ คุณค่าของ Product, ความแตกต่าง (Unique) และเหตุผลที่บอกว่าทำไมผู้ใช้จึงต้องการ Product ของคุณ

บทเรียนสำหรับสตาร์ทอัพ จาก Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง InstagramPhoto credit: How to deliver a compelling elevator pitch

คุณเริ่มแพ้แล้ว ตั้งแต่วินาทีแรกที่คุณคิดว่าชนะ

แม้จะมีคนที่รักและเกลียดคุณ คุณไม่ควรโน้มเอียงเข้าทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะกรณีที่ทุกคนรักคุณหมด คุณจะคิดว่าตัวเองชนะในสมรภูมิรบนี้แล้ว ซึ่งอันตรายมากในการทำธุรกิจ

Kevin เสริมว่า “แท้จริงแล้วการที่คุณคิดว่าชนะ มันเป็นเพียงการเริ่มต้นทำสิ่งที่แตกต่างต่างหาก ซึ่งทุกบริษัทในซิลิคอน วัลเลย์ ควรทำงานของตนต่อไปอย่างแข็งขัน ไม่ใช่มัวหลงระเริงกับชัยขนะเหล่านั้น ซึ่งมันคือหายนะที่แท้จริงสำหรับธุรกิจ”

หลีกเลี่ยงการทดสอบแอพช่วงเบต้าตามลำพัง

อย่าทดสอบแอพช่วงเบต้าตามลำพัง หาผู้ใช้ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้คุณได้ ส่งแอพไปให้พวกเขาทดลองใช้ และลองฟังเสียงตอบรับดูว่าพวกเขาตื่นเต้นกับมันไหม

บทเรียนสำหรับสตาร์ทอัพ จาก Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง InstagramPhoto credit: Smart and free techniques startups can use to find beta testers

Kevin อธิบายถึงปัญหาที่แฝงอยู่ในสตาร์ทอัพ คือ ธุรกิจไม่ได้ผลตอบรับจากผู้ใช้ที่เร็วพอ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามัน work ไม่ work ก็ต่อเมื่อคุณแสดง Product ให้คนอื่นดู และที่สำคัญอย่าลืมเรื่องการทำ MVP เพื่อพิสูจน์ให้ได้รวดเร็วว่า work หรือไม่ และต่อให้คุณ Fail มันก็คือการ Fail Fast ดังนั้นอย่าลังเลที่จะเก็บผลตอบรับจากผู้ใช้

ยอมให้ตัวเองบ้าได้เล็กน้อย

ความกลัว คือ สิ่งเดียวที่ฉุดรั้งให้ผู้คนไม่กล้าทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าพวกเขาจะมี Passion ก็ตาม หลายคนมักจะประเมินตัวเองต่ำด้วยความคิดที่ว่า “ใช่สิ ฉันมันไม่ใช่พวกมีพรสวรรค์นี่หว่า” Kevin เชื่อว่าเป็นใครก็สามารถสร้าง Instagram ตัวถัดไปได้ เพียงแค่ก้าวผ่านความกลัวนั้น โดยยอมให้ตัวเองบ้าได้เล็กน้อย

สรุป

เนื้อหาทั้งหมด คือ สิ่งที่ Kevin ได้เรียนรู้จากการทำสตาร์ทอัพและเขาคิดว่าทั้งหมดคือบทเรียนที่ดีที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพควรนำไปพิจารณา ได้แก่

  • การเริ่มต้นจากปัญหา หามันให้พบและอย่ากลัวที่จะแก้ด้วยวิธีการเรียบง่าย
  • กล้าที่จะปรับเปลี่ยน อย่ายึดติดไอเดียเริ่มต้น แต่ให้สังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้
  • เริ่มด้วยทีมเล็ก ๆ แต่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่
  • คุณควรดึงคนฉลาดและมี Passion เข้ามาทำงาน เพื่อเกื้อหนุนการช่วยกันแก้ไขปัญหา
  • ผู้ประกอบการไม่ควรทราบแค่การทำ Product แต่องค์ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์การและการจัดการก็ควรทราบด้วย
  • อธิบายสิ่งที่คุณทำให้ได้ภายใน 30 วิ เพราะนั่นคือคุณค่าหลักของ Product ที่ส่งมอบแก่ลูกค้า
  • การคิดว่าตัวเองชนะ คือหายนะสำหรับการทำสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง
  • หาผู้ใช้มาช่วยทดสอบแอพช่วงเบต้า เพื่อเก็บผลตอบรับ พิสูจน์ ปรับปรุง หรือหาแนวทางใหม่
  • เอาชนะความกลัว ในการทำสิ่งใหม่และยิ่งใหญ่ ด้วยการยอมให้ตัวเองบ้าเล็กน้อย

Comments

comments