แชร์ประสบการณ์การเป็นวิทยากร Airbnb (จำเป็น) กับโอกาสที่เปิดกว้างสู่การเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลในยุคไทยแลนด์ 4.0

สวัสดีผู้อ่านทุกท่านนะครับ ผมห่างหายจากการเขียนบทความไปนานเพราะติดภาระกิจดูแลสตาร์ทอัพตัวหนึ่ง เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า บทความนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อแชร์แนวคิด และประสบการณ์ให้กับผู้ที่สนใจอยากเป็นผู้ประกอบการในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่โอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างมาก ๆ จากการที่ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

วิทยากร Airbnb จำเป็น

ผมไม่รู้ไปทำอีท่าไหน โดนจับพลัดจับผลูให้มาเป็นวิทยาการจำเป็น เพื่อไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปล่อยเช่าที่พักบน Airbnb ซึ่งหน่วยงานที่ติดต่อมาเป็นหน่วยงานภาครัฐ เพื่อตอบรับกับนโยบายของประเทศ ยุคไทยแลนด์ 4.0

โจทย์ของทางหน่วยงานรัฐ คือ ต้องเป็นธุรกิจออนไลน์ หรือธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง Airbnb เป็นหนึ่งธุรกิจที่ตอบโจทย์พอดี ดังนั้นทางภาครัฐจึงหาคนที่เคยมีประสบการณ์ทำ Airbnb ซึ่งก็มาค้นเจอผมบนอินเทอร์เน็ตนี่ล่ะครับ เลยติดต่อมาให้ผมไปเป็นวิทยากร 2 ค่าย ค่ายละ 5 วัน แต่ส่วนที่ผมไปบรรยายจะเป็น 3 วันแรกของทั้งสองค่าย ค่ายแรกไปที่จังหวัดสตูล และค่ายที่สองไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ในบทความนี้ผมขอหยิบการไปค่ายแรกที่สตูลมาเล่าสู่กันฟัง เพราะกลุ่มผู้เข้าอบรมน่าสนใจครับ

เอาเป็นว่าผมตอบตกลงคำเชิญของหน่วยงานรัฐ เพราะผมไม่เคยไปบรรยายเกี่ยวกับ Airbnb ให้ใครฟังมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกครับสำหรับการเป็นวิทยากร Airbnb จำเป็น และครั้งแรกที่ได้ลงใต้ไปสัมผัสกับทะเลที่สตูล

ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์

ในการอบรมค่ายแรก ผมได้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมอบรมก็ตกใจครับ เพราะกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนควนโดน จ.สตูล ถามว่าทำไมผมถึงตกใจ ผมลองนึกย้อนกลับไปในวัยเด็กม.ปลาย แล้วลองนึกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

Airbnb Satun

ช่วงนั้นผมจำได้ดีเลยว่า ผมยังเป็นเด็กที่ชอบไปนั่งเล่นเกม Counter Strike หรือ Ragnarok ตามร้านเน็ตอยู่เลย เรานึกไม่ออกเลยว่าเราจะมีโอกาสเป็นผู้ประกอบการ หรือทำธุรกิจได้อย่างไรในช่วงที่เราเรียนอยู่ ความคิดของผมในวัยนั้น คือ ต้องรอเรียนให้จบมหาวิทยาลัย แล้วค่อยหางานทำ ทำงานสักพักมีเงินเก็บค่อยออกมาทำธุรกิจส่วนตัว

คิดไปผมก็นึกอิจฉาเด็ก ๆ สมัย ที่มีทางเลือกมากมายในการเริ่มต้นธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จากการเขียนบทความเกี่ยวกับผู้ประกอบการยุคดิจิทัล ทำให้ผมได้แนวคิด และไอเดียการเริ่มต้นธุรกิจในขณะที่เรายังไม่พร้อม ดังนั้นผมจึงตอบรับคำเชิญของหน่วยงานรัฐ ด้วยความคิดที่ว่า ถ้าในวัยเด็กของเรามันไม่มีโอกาสแบบนี้ เราก็จะมอบแนวทางหรือโอกาสให้กับพวกเขาเองนี่แหละ ซึ่งมันดีกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลย และเราอาจนึกเสียใจทีหลังที่ไม่คว้าโอกาสนี้

Disrupt = โอกาส

เชื่อไหมครับว่า โอกาสการเป็นผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนั้น มาจากการพลิกโฉม หรือปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งขับเคลื่อนโดยธุรกิจเกิดใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า “สตาร์ทอัพ” ซึ่งโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมา ทำให้คนที่เกิดก่อนยุคอินเทอร์เน็ตได้แต่ตั้งคำถามในใจว่า “มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยทรัพยากรที่จำกัด”

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง หรือพลิกโฉมธุรกิจดั้งเดิมที่มีอยู่ (Disrupt) จะมีแนวความคิดคล้ายกัน คือ การทำให้ “พลังขององค์กร” ถูกโยกย้ายมาสู่คนทั่วไปอย่างเต็มตัว โดยกรณีศึกษาธุรกิจสตาร์ทอัพต่าง ๆ ที่ผมนำไปบรรยายให้เด็ก ๆ ฟัง ได้แก่

Amazon คือ ธุรกิจที่คุณสามารถเป็นนักเขียน ตีพิมพ์อีบุ๊ค และขายให้กับคนทั้งโลกได้ โดยที่คุณไม่ต้องเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง และไม่จำเป็นต้องวิ่งหา หรือจัดตั้งสำนักพิมพ์เพื่อตีพิมพ์ และวางขายหนังสือของคุณ

Udemy คือ ธุรกิจที่คุณไม่ต้องจบครู แต่คุณมีความรู้บางอย่างที่คุณสามารถนำมาผลิตเป็นคอร์สออนไลน์ในรูปแบบวิดีโอ และขายความรู้นั้นให้กับคนทั่วโลกได้ ที่สำคัญ คือ การเรียนคอร์สออนไลน์ในปัจจุบัน อาจทำให้ธุรกิจการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเริ่มหมดความสำคัญลง เพราะความรู้บางศาสตร์ผู้เรียนสามารถขวนขวายได้ด้วตนเองจากคอร์สออนไลน์เหล่านี้ เช่น การออกแบบกราฟิก การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การตลาดดิจิทัล เป็นต้น

Fiverr และ Fastwork คือ ธุรกิจที่คุณสามารถขายทักษะที่คุณถนัดแก่ผู้คนได้ เช่น การออกแบบโลโก้สินค้า การรับแปลภาษาต่างประเทศ การรับจ้างถ่ายรูปในงานรับปริญญา การเขียนรีวิว การวิจัยตลาด ไปจนถึงการปรึกษาทางด้านกฎหมาย

T-Spring คือ ธุรกิจที่คุณไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องสกรีนเสื้อ เพียงแค่คุณมีไอเดียการออกแบบลายเสื้อยืด คุณก็สามารถวางขายเสื้อยืดลายที่คุณออกแบบให้กับคนทั่วโลกได้ โดยทาง T-Spring จะเป็นคนผลิตเสื้อยืด หากมียอดออร์เดอร์ถึงขั้นต่ำที่คุณตั้งไว้ และจัดส่งไปถึงมือลูกค้าของคุณ

Uber และ Grab คือ ธุรกิจที่คุณสามารถรับส่งคนแปลกหน้าจากจุด A ไปจุด B โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องไปสังกัดบริษัทรถ Taxi แม้ว่าในไทยจะยังไม่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่เราพูดถึงในแง่มุมของโอกาส ช่วยให้ผู้คนมีรายได้จากทรัพย์สินที่ตนเองมีได้

Facebook และ Google คือ ธุรกิจที่ช่วยให้คุณสามารถ “ซื้อโฆษณา” เพื่อขายสินค้า หรือบริการของคุณไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นในราคาที่คุณจ่ายไหว จากที่เมื่อก่อนการซื้อโฆษณาจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งมีเพียงบริษัทใหญ่เท่านั้นที่สามารถจ่ายไหว

Airbnb ก็เช่นเดียวกัน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม อพาร์ตเมนต์ หรือหอพัก คุณก็สามารถเป็นผู้ประกอบการให้เช่าที่พักได้ โดยการให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาพักกับคุณภายใน “บ้าน” หรือ “ห้องว่าง” ที่คุณมี การประกาศที่พักของคุณลงไปบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Airbnb ช่วยเพิ่มความน่าจะเป็นมากขึ้นในการที่ผู้คนจะเห็นที่พักของคุณ และกลายเป็นลูกค้าของคุณในที่สุด

Airbnb

นอกจากนี้ Airbnb บริการใหม่อย่าง Experience ที่ช่วยให้ทักษะ หรืองานอดิเรกส่วนตัวของคุณกลายเป็นธุรกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกผักออร์แกนนิก การชงกาแฟ การปั่นจักรยานชมเมือง การเดินขึ้นป่าขึ้นภูเขา การวาดรูป หรือแม้แต่การชิมไวน์ สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่มีคนยอมจ่าย คนในโลกตั้งมากมายหลายล้านคน อาจจะมี 1,000 คนที่อยากซื้อประสบการณ์เหล่านี้ แต่คุณจะไปหาคนเหล่านั้นได้จากที่ไหน ก็จากที่ Airbnb นี่ล่ะครับที่ดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเพิ่มโอกาสที่คุณจะคว้า 1,000 คนนั้นมาเป็นลูกค้าของคุณ

สิ่งที่ผมกล่าวมานี้ คือ ทิศทางของโลกที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน ที่ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านั้นทำให้คนตัวเล็ก ๆ มีพลังอำนาจมากขึ้น ท้าทายสภาพเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีทางเลือกมากขึ้นในการสร้างรายได้ หรือธุรกิจส่วนตัวของตนเอง

Airbnb 18+

หลังจากวันแรกที่ผมและทีมงาน ได้ปูพื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลเรียบร้อย วันที่สอง และสามเราก็เข้าสู่ช่วง Workshop การใช้งานระบบ Airbnb เพื่อทำธุรกิจให้เช่าที่พักแก่คนทั่วโลก

Airbnb Satun Camp

ก่อนที่จะมาบรรยาย ผมได้ลองสำรวจที่พักบน Airbnb ในสตูล พบว่ามีที่พักไม่ถึง 10 แห่ง ถือว่าน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะอยู่กับติดทะเล ผมนึกในใจว่าวันนี้ล่ะบนเว็บ Airbnb จะมีที่พักใหม่ผุดขึ้นมาในสตูลอีกประมาณ 30 แห่ง

ปัญหาใหญ่ที่เราเจอตอนเริ่มทำ Workshop คือ มีน้องบางคนไม่สามารถทำการสมัครสมาชิกเว็บ Airbnb ได้ เนื่องจากอายุไม่ถึง 18 ปี (น้อง ๆ ชั้นม.4-5) ซึ่งผมก็ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงลองไปค้นหาเพิ่มเติมบนเว็บ Airbnb ก็พบว่า Airbnb ระบุไว้ชัดเจนใน Terms of Service ว่าผู้ใช้งาน Airbnb จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งในฝั่งนักเดินทาง และเจ้าของที่พัก

ดังนั้นเราจึงแก้ปัญหาโดยให้น้อง ๆ ที่ติดปัญหาสร้างบัญชี (Account) ใหม่ขึ้นมา โดยสมมติว่ามีอายุถึง 18 ปีแล้ว ซึ่งจริง ๆ ผมไม่แนะนำให้โกงอายุในระบบนะครับ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย และความปลอดภัยของเราเอง แต่ในกรณีนี้ทำเพื่อให้การอบรมดำเนินต่อไปได้เท่านั้นครับ

แม้จะมีนักเรียนบางคนถูกบังคับให้เข้าอบรม แต่ผมก็เห็นความตั้งใจของน้อง ๆ ทุกคนดีครับ เพราะเด็กรุ่นใหม่เปิดรับเทคโนโลยีได้ง่าย บางคนมีไอเดียเรื่องการแต่งรูปที่พัก หรือเขียนคำบรรยายที่พักให้ดูน่าสนใจครับ สุดท้ายที่พักของแต่ละคนก็ไปปรากฏโฉมอยู่บน Airbnb จากตอนแรกที่พื้นที่ฝั่งเหนือทะเลไม่มีที่พักอยู่เลย แต่ตอนนี้ป้ายราคาที่พักของน้อง ๆ ก็ผุดขึ้นมาหลายสิบแห่งเลยทีเดียว

Airbnb Satun Map

วันที่สุดท้ายของ Workshop คือ การลงพื้นที่สำรวจธุรกิจให้เช่าห้องพักในท้องถิ่น เพื่อให้น้อง ๆ ได้เห็นไอเดียการจัดห้องพัก และการถ่ายรูปที่พัก เพื่อนำไปปรับปรุงที่พักบน Airbnb ให้ดึงดูดลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยการถ่ายรูปที่พักนั้นไม่เพียงแค่ถ่าย ห้องนอน ห้องน้ำ หรือห้องนั่งเล่น แต่ยังสามารถถ่ายวิวบริเวณที่พักได้ เช่น ระเบียง สวนหย่อม สระว่ายน้ำ หรือวิวโดยรอบที่พัก

Airbnb Satun

สิ่งสุดท้ายที่เราฝากไว้แก่ผู้เข้าอบรม คือ อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ โลกกำลังก้าวไปข้างหน้าเร็วกว่าที่เป็นมา องค์ความรู้ที่ได้เรียนไปในวันนี้กำลังล้าสมัยไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจงนำไปลงมือทำให้เกิดผล และเก็บผลลัพธ์ที่ได้กลับมาทบทวนว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี สิ่งไหนที่ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก คนที่ปรับตัวเร็วเท่านั้นที่จะอยู่รอด ขอให้น้อง ๆ โชคดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคตครับ

สุดท้าย (เกือบ) ได้ลูกค้า

สิ่งที่เราลุ้นมากที่สุดหลังจากที่จบค่ายไป คือ การหวังน่าผู้เข้าร่วมอบรมสักคนจะมีลูกค้าจองที่พักมา และแล้วเราก็สมหวังครับ ผ่านไปสัก 2 อาทิตย์มีน้องคนหนึ่งส่งความคืบหน้ามาให้พวกเราดู ว่ามีนักท่องเที่ยวสนใจติดต่อมาสอบถามเกี่ยวกับที่พัก เป็นชาวมาเลเซียที่ต้องการเดินทางมาเที่ยว และทำธุระในละแวกสตูล

Airbnb Satun

ประเด็น คือ เราลองคิดเล่น ๆ ว่าหากไม่มี Airbnb เราจะทำตลาดที่พักของเราอย่างไรให้มีชาวต่างชาติเข้ามาพัก บางทีเราอาจต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อโปรโมทที่พักของเรา หรือใช้เวลานานมาก ๆ กว่าที่พักของเราจะมีชื่อเสียงดังไปถึงหูชาวต่างชาติ

การเกิดขึ้นของธุรกิจ Airbnb ทำให้เกิดความน่าจะเป็นดังกล่าวขึ้นครับ ที่คนตัวเล็ก ๆ สักคนจะมีโอกาสเปิดบ้านต้อนรับคนต่างชาติจากทั่วโลก และสร้างรายได้จากห้องว่างที่ตนเองมี ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ติดปัญหาว่าไม่รู้จะเริ่มต้นกับธุรกิจอะไรดี ได้เห็นโอกาสหรือทางเลือกมากขึ้น ซึ่ง Airbnb เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียวกับการทำธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 ยุคที่อะไร ๆ ก็ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นหลักครับ

อีบุ๊ค Airbnb Entrepreneur 2018: ผู้ประกอบการ Airbnb มือใหม่ สร้างรายได้จากการให้เช่าที่พัก ฉบับปรับปรุงปี 2018

Comments

comments