วิเคราะห์การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinder

หลังจากที่ เผยเบื้องหลัง เทคนิคการแนะนำคู่เดทของแอพ OkCupid กันไปแล้ว คราวนี้เป็นคิวของเจ้า Tinder แอพแนะนำคู่เดทอีกหนึ่งตัวที่คนไทยนิยมเล่น โดยบทความนี้เป็นการวิเคราะห์ในมุมมองส่วนตัวของผมเอง จากการสังเกตการณ์ว่าแอพมีวิธีการแนะนำคู่เดทให้กับเราอย่างไร ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือมีข้อมูลเพิ่มเติมก็มาแชร์กันได้นะครับ

วิเคราะห์การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinderแอพ Tinder จะแนะนำคู่เดทในรูปแบบ Card ผู้ใช้สามารถปัด (Swipe) ได้ การปัดซ้าย (Swipe Left) หมายถึงคุณไม่ชอบคู่เดทที่แอพแนะนำ ส่วนการปัดขวา (Swipe Right) หมายถึงคุณชอบคู่เดทที่แอพแนะนำ สำหรับการแนะนำคู่เดทของ Tinder มีวิธีการดังต่อไปนี้

เริ่มด้วยการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ (Data Collection)

แอพ Tinder กำหนดตั้งแต่แรกเลยว่า ให้ผู้ใช้สมัครและ Log in ด้วยบัญชี Facebook ถ้าถามผมว่าทำไมต้อง Facebook only คำตอบคือ เพื่อที่แอพจะได้สิทธิ์เข้าไปเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook มาประมวลครับ ตรงนี้คุณควรตรวจสอบให้ดีด้วยว่าแอพเอาข้อมูลอะไรไปใช้บ้าง รวมถึงอ่าน Privacy Policy ของแอพด้วยจะดีมากครับ ว่าข้อมูลของเราถูกเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง

วิธีการเก็บข้อมูลแบบนี้เรียกว่า Implicit method หรือการเก็บข้อมูลโดยอ้อม คือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมาตอบคำถามหรือป้อนข้อมูลให้กับระบบเอง ระบบแค่ดึงข้อมูลคุณออกมาโดยอัตโนมัติเพื่อประมวลผล

ข้อมูลหลัก ๆ ที่แอพ Tinder ดึงมาจาก Facebook ได้แก่

  • ชื่อ-สกุล รวมถึงรูป Profile
  • วันเกิด ใช้คำนวณอายุ
  • รายการเพื่อนของคุณ
  • สิ่งที่คุณเคยกด Like ส่วนมากจะเป็นพวก FB Fanpage

การกรองข้อมูล (Filtering)

ทุกครั้งที่เปิดแอพ Tinder ขึ้นมาแอพจะตรวจสอบก่อนเลยว่าเราเปิด GPS มือถือแล้วหรือยัง นี่เป็นขั้นแรกสุดของการกรองข้อมูล คือ การระบุตำแหน่งปัจจุบันของคุณให้ได้ก่อน เพื่อที่แอพจะค้นหาผู้ใช้ Tinder คนอื่น ๆ ที่อยู่ในรัศมีรอบตัวคุณมาแนะนำให้ครับ นอกจากการระบุตำแหน่งแล้ว Tinder ยังมีตัวกรองอื่น ๆ ให้คุณปรับแต่งเพื่อแสดงผลการแนะนำคู่เดท ได้แก่

  • เพศ ให้แสดงเฉพาะเพศชายหรือหญิง หรือทั้งชายและหญิง
  • ระยะทางในการค้นหา กำหนดได้ตั้งแต่ 2 – 161 km.
  • ช่วงอายุ กำหนดได้ตั้งแต่ 18-55+ ปี

สังเกตว่าตัวเลือกในการกรองข้อมูลของ Tinder น้อยกว่า OkCupid มาก เพราะเน้นความเรียบง่าย และรวดเร็วในการใช้งานแอพครับ

การกรองข้อมูลนอกจากจะเป็นการลดจำนวนข้อมูล (คู่เดท) จะช่วยให้แอพนำเสนอคู่เดทที่ตรงกับความสนใจส่วนตัว (Personal Interests) ของผู้ใช้ได้อีกด้วย

การแนะนำคู่เดทของแอพ (Recommendation)

การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinder ไม่มีอะไรมาก หรือซับซ้อนเท่า OkCupid ครับ โดยแอพจะนำข้อมูลที่ถูกลดขนาดแล้ว (อยู่ในระยะทาง และช่วงอายุที่คุณกำหนด) มาใช้ในการคัดเลือกคู่เดท ก่อนนำเสนอให้กับคุณ เป็นกรณีต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • มีความสนใจร่วมกันกับสิ่งที่คุณเคยกด Like (Mutual Likes)
  • เป็นเพื่อนของเพื่อนคุณ (Mutual Friends)
  • เคย Swipe Right (ปัดการ์ดไปทางขวา) เป็นการบอกว่าเขาหรือเธอชอบคุณ

การแนะนำคู่เดทในกรณีที่ 3 ถ้าคุณ Swipe Right ตอบกลับ เป็นการแสดงว่าคุณชอบผู้ใช้คนนั้น ๆ แอพจะทำการ Match หรือจับคู่ให้กับคุณ ให้พวกคุณได้สนทนากัน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคุณและคู่เดทแล้วว่าจะสานสัมพันธ์กันหรือไม่

นี่คือทั้งหมดของการวิเคราะห์การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinder ในมุมมองส่วนตัวของผม ถ้าเทียบกับแอพ OkCupid จะเห็นว่าแอพ Tinder ไม่ต้องใช้สมการคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนมาช่วยในการแนะนำคู่เดทให้ผู้ใช้เลย แต่จะหนักไปที่การเก็บข้อมูลการ Swipe ของผู้ใช้ว่าเคยชอบหรือไม่ชอบคู่เดทคนไหนไปบ้าง เพื่อไม่ให้แสดงผลซ้ำในอนาคต

สรุป

แอพ Tinder กำหนดผู้ใช้ตั้งแต่แรกเลยว่าต้องสมัครและใช้งานด้วยบัญชี Facebook เพื่อให้แอพมีสิทธิ์ดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มาเพื่อแนะนำคู่เดทให้ โดยขั้นต้นแอพจะอิงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ และตัวกรองที่ผู้ใช้เลือกเพื่อลดขนาดจำนวนคู่เดท จากนั้นเป็นการแนะนำคู่เดทจากกรณีต่าง ๆ เช่นมีความสนใจร่วมกัน, เป็นเพื่อนของเพื่อน, เคย Swipe Right, อยู่ในระยะทาง และช่วงอายุที่ผู้ใช้กำหนด ในระหว่างการแนะนำคู่เดทหากผู้ใช้ เคย Swipe Right คู่เดทที่เคย Swipe Right เช่นเดียวกัน แอพจะทำการ Match หรือจับคู่ให้ทั้ง 2 ได้สนทนากันครับ

Comments

comments