หลังจากที่ เผยเบื้องหลัง เทคนิคการแนะนำคู่เดทของแอพ OkCupid กันไปแล้ว คราวนี้เป็นคิวของเจ้า Tinder แอพแนะนำคู่เดทอีกหนึ่งตัวที่คนไทยนิยมเล่น โดยบทความนี้เป็นการวิเคราะห์ในมุมมองส่วนตัวของผมเอง จากการสังเกตการณ์ว่าแอพมีวิธีการแนะนำคู่เดทให้กับเราอย่างไร ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือมีข้อมูลเพิ่มเติมก็มาแชร์กันได้นะครับ
เริ่มด้วยการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ (Data Collection)
แอพ Tinder กำหนดตั้งแต่แรกเลยว่า ให้ผู้ใช้สมัครและ Log in ด้วยบัญชี Facebook ถ้าถามผมว่าทำไมต้อง Facebook only คำตอบคือ เพื่อที่แอพจะได้สิทธิ์เข้าไปเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook มาประมวลครับ ตรงนี้คุณควรตรวจสอบให้ดีด้วยว่าแอพเอาข้อมูลอะไรไปใช้บ้าง รวมถึงอ่าน Privacy Policy ของแอพด้วยจะดีมากครับ ว่าข้อมูลของเราถูกเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง
วิธีการเก็บข้อมูลแบบนี้เรียกว่า Implicit method หรือการเก็บข้อมูลโดยอ้อม คือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมาตอบคำถามหรือป้อนข้อมูลให้กับระบบเอง ระบบแค่ดึงข้อมูลคุณออกมาโดยอัตโนมัติเพื่อประมวลผล
ข้อมูลหลัก ๆ ที่แอพ Tinder ดึงมาจาก Facebook ได้แก่
- ชื่อ-สกุล รวมถึงรูป Profile
- วันเกิด ใช้คำนวณอายุ
- รายการเพื่อนของคุณ
- สิ่งที่คุณเคยกด Like ส่วนมากจะเป็นพวก FB Fanpage
การกรองข้อมูล (Filtering)
ทุกครั้งที่เปิดแอพ Tinder ขึ้นมาแอพจะตรวจสอบก่อนเลยว่าเราเปิด GPS มือถือแล้วหรือยัง นี่เป็นขั้นแรกสุดของการกรองข้อมูล คือ การระบุตำแหน่งปัจจุบันของคุณให้ได้ก่อน เพื่อที่แอพจะค้นหาผู้ใช้ Tinder คนอื่น ๆ ที่อยู่ในรัศมีรอบตัวคุณมาแนะนำให้ครับ นอกจากการระบุตำแหน่งแล้ว Tinder ยังมีตัวกรองอื่น ๆ ให้คุณปรับแต่งเพื่อแสดงผลการแนะนำคู่เดท ได้แก่
- เพศ ให้แสดงเฉพาะเพศชายหรือหญิง หรือทั้งชายและหญิง
- ระยะทางในการค้นหา กำหนดได้ตั้งแต่ 2 – 161 km.
- ช่วงอายุ กำหนดได้ตั้งแต่ 18-55+ ปี
สังเกตว่าตัวเลือกในการกรองข้อมูลของ Tinder น้อยกว่า OkCupid มาก เพราะเน้นความเรียบง่าย และรวดเร็วในการใช้งานแอพครับ
การกรองข้อมูลนอกจากจะเป็นการลดจำนวนข้อมูล (คู่เดท) จะช่วยให้แอพนำเสนอคู่เดทที่ตรงกับความสนใจส่วนตัว (Personal Interests) ของผู้ใช้ได้อีกด้วย
การแนะนำคู่เดทของแอพ (Recommendation)
การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinder ไม่มีอะไรมาก หรือซับซ้อนเท่า OkCupid ครับ โดยแอพจะนำข้อมูลที่ถูกลดขนาดแล้ว (อยู่ในระยะทาง และช่วงอายุที่คุณกำหนด) มาใช้ในการคัดเลือกคู่เดท ก่อนนำเสนอให้กับคุณ เป็นกรณีต่าง ๆ ได้ดังนี้
- มีความสนใจร่วมกันกับสิ่งที่คุณเคยกด Like (Mutual Likes)
- เป็นเพื่อนของเพื่อนคุณ (Mutual Friends)
- เคย Swipe Right (ปัดการ์ดไปทางขวา) เป็นการบอกว่าเขาหรือเธอชอบคุณ
การแนะนำคู่เดทในกรณีที่ 3 ถ้าคุณ Swipe Right ตอบกลับ เป็นการแสดงว่าคุณชอบผู้ใช้คนนั้น ๆ แอพจะทำการ Match หรือจับคู่ให้กับคุณ ให้พวกคุณได้สนทนากัน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคุณและคู่เดทแล้วว่าจะสานสัมพันธ์กันหรือไม่
นี่คือทั้งหมดของการวิเคราะห์การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinder ในมุมมองส่วนตัวของผม ถ้าเทียบกับแอพ OkCupid จะเห็นว่าแอพ Tinder ไม่ต้องใช้สมการคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนมาช่วยในการแนะนำคู่เดทให้ผู้ใช้เลย แต่จะหนักไปที่การเก็บข้อมูลการ Swipe ของผู้ใช้ว่าเคยชอบหรือไม่ชอบคู่เดทคนไหนไปบ้าง เพื่อไม่ให้แสดงผลซ้ำในอนาคต
สรุป
แอพ Tinder กำหนดผู้ใช้ตั้งแต่แรกเลยว่าต้องสมัครและใช้งานด้วยบัญชี Facebook เพื่อให้แอพมีสิทธิ์ดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มาเพื่อแนะนำคู่เดทให้ โดยขั้นต้นแอพจะอิงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ และตัวกรองที่ผู้ใช้เลือกเพื่อลดขนาดจำนวนคู่เดท จากนั้นเป็นการแนะนำคู่เดทจากกรณีต่าง ๆ เช่นมีความสนใจร่วมกัน, เป็นเพื่อนของเพื่อน, เคย Swipe Right, อยู่ในระยะทาง และช่วงอายุที่ผู้ใช้กำหนด ในระหว่างการแนะนำคู่เดทหากผู้ใช้ เคย Swipe Right คู่เดทที่เคย Swipe Right เช่นเดียวกัน แอพจะทำการ Match หรือจับคู่ให้ทั้ง 2 ได้สนทนากันครับ
Comments
comments