ถ้าพูดถึง Elon Musk เรามักนึกถึงผู้ชายที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้สำเร็จ แต่จริง ๆ แล้ว Elon Musk ประสบกับความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จเสียอีก แต่ความล้มเหลวนี้ล่ะที่ผลักดันให้ชายคนี้เดินหน้าสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้
หลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวธุรกิจชื่อดังที่ Elon Musk อยู่เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็น Paypal (ระบบการโอนเงินบนอินเทอร์เน็ต) SpaceX (โครงการสร้างจรวดเพื่อส่งมนุษย์ไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร) หรือ Tesla (รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง เพื่อหยุดการใช้พลังงานฟอสซิล) แต่สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินเลย คือ แนวทางที่ Musk ใช้สร้างนวัตกรรม สิ่งสำคัญ คือ การตั้งพื้นฐานอยู่บนความล้มเหลวและผลตอบรับ (Feedback) ในทางฟิสิกเราเริ่มจากกฎมูลฐาน ในทางคณิตศาสตร์เราเริ่มจากสัจพจน์ และในทางปรัชญาเราเริ่มจากการสมมติ
การสร้างนวัตกรรมแท้จริง เริ่มจากความจริงพื้นฐานและเหตุผล แล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มต้นจากศูนย์ ทำการทดลอง ล้มเหลว กลั่นกรอง ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งไปถึงจุดที่เป็นนวัตกรรม วิธีการนี้แม้จะไม่มีแนวทางที่เป็นเส้นตรง แต่ก็เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถนำไปสู่นวัตกรรมได้ มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำสิ่งที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องในที่สุด
เรื่องราวต่อไปนี้ไม่ได้เพียงแค่เผยความลับของ Elon Musk แต่ยังบอกด้วยว่าอะไร คือ เหตผุลที่ชายผู้นี้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่เหนือกว่าจินตนาการของพวกเราอีกด้วย
เรื่องราวของ Elon Musk
Elon Musk เกิดในแอฟริกาใต้ เขามีพ่อเป็นวิศวกรชาวแอฟริกาใต้ และแม่เป็นนักโภชนาการชาวแคนนาดา ในบรรดาพี่น้องสามคน Musk เป็นลูกคนโต ในวัยเด็กเขาเป็นหนอนหนังสือ คุณพ่อของ Musk เล่าว่า Musk คือ พวกนักคิดเชิงวิเคราะห์ (Introverted Thinker) โดยเฉพาะความคิดเชิงตรรกะ เขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในการอ่านอะไรก็ตามที่ฉวยคว้ามาได้
ในวัย 14 ปี Musk มีปัญหากับการหาคำตอบเกี่ยวกับ “ความหมายของชีวิต” เขาไล่อ่านงานเขียนของนักปรัชญาหลายท่าน แต่ก็ไม่สามารถหาคำตอบใหม่ ๆ ได้ และที่ที่พอจะให้คำตอบกับเขาได้ก็เริ่มน้อยลงทุกที
เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ Musk หยุดไล่ล่าหาคำตอบ คือ ตอนที่เขาได้อ่านหนังสือชื่อ “The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy“ โดย Douglas Adams ภายในหนังสือเน้นย้ำว่า “หลายครั้งที่การตั้งคำถามนั้นยากยิ่งกว่าการหาคำตอบ”

Elon Musk ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มดังกล่าว และตระหนักได้ว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคำตอบ คือ การตั้งถามคำถามที่ถูกต้อง ต่างหาก และคำถามที่ทำให้ Musk ค้นพบแนวทางของตัวเองในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่น่าทึ่ง ก็คือคำถามหนึ่งที่เขาถามในชั้นเรียนว่า
“อะไรคือสิ่งที่จะส่งผลต่ออนาคตของมวลนุษยชาติมากที่สุด?”
สื่อมักตีพิมพ์เรื่องราวของ Elon Musk ในฐานะฮีโร่ หรือวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างสิ่งเจ๋ง ๆ หรือนวัตกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด ความเป็นอัจฉริยะที่ไม่มีใครเทียบ กับความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ ทุกครั้งที่เขาพูดมีคนฟังเสมอ และแม้ว่าเขาจะได้รับการสรรเสริญ แต่ Musk ไม่ได้สนใจกับคำเยินยอเหล่านั้น
ความสำเร็จของ Musk เกิดจากการลงมือทำ และแรงขับ (Drive) ที่เหลือเชื่อ และนี่ คือ บทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชายผู้นี้ครับ
การให้คุณค่ากับสัญญา หรือข้อผูกมัด
คำถามที่ Elon Musk ตั้งขึ้นมาเป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่ คำถามนั้น ๆ ช่วยให้เขากำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นได้สำเร็จ
จริง ๆ แล้ว การกำหนดเป้าหมายไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการช่วยเหลือโลก หรือสร้างคุณค่าอะไรบางอย่าง สำหรับคนทั่วไปอย่างเรา ๆ เป้าหมายเป็นเรื่องส่วนตัว ในความเป็นจริงเป้าหมายไม่ได้ไปกระทบใครนอกจากตัวเราเอง
น่าเสียดายที่การมีเป้าหมายฟังดูเป็นเรื่องยาก เพราะการทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมายเป็นเรื่องที่ง่ายเสียกว่า เป้าหมายของตัวเราส่วนใหญ่มีข้อผูกมัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
งานวิจัยจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย Santa Barbara ในปี 2015 ได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้
นักวิจัยได้ติดตามนิสัยการออกกำลังกายของพนักงานในบริษัทติดอันดับฟอร์จูน 500 พวกเขาวัดความถี่ในการเข้ายิมของพนักงานเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พนักงานกลุ่มแรกจะได้รับเงินเป็นแรงจูงใจในการเข้ายิมออกกำลังกาย ในขณะที่พนักงานกลุ่มที่สองต้องเซ็นสัญญายินยอมที่จะบริจาคเงินเพื่อการกุศล หากพวกเขาไม่ได้เข้ายิม ผลการทดลอง คือ
การให้เงินเป็นแรงจูงใจนั้นได้ผลเพียงระยะเวลาสั้น ๆ สิ่งจูงใจไม่มีผลต่อการเข้ายิมหลังจากที่หยุดให้รางวัล กลับกันนักวิจัยพบว่าสัญญาที่เป็นข้อผูกมัดนั้น สร้างแรงบัลดาลใจในระยะยาวได้ดีกว่าในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และยังมีผลต่อพฤติกรรมของคนที่กลุ่มที่สองไปอีกหลายปีหลังจากการทดลองสิ้นสุดลง
เมื่อคนรู้สึกว่าพวกเขามีหน้าที่ที่จะต้องทำด้วยเหตุผลมากกว่าสิ่งล่อใจภายนอก แรงจูงใจของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง
Elon Musk คงไม่ได้เซ็นสัญญาเพื่อผูกมัดตัวเองในแต่ละโครงการที่เขาดูแลแน่ ๆ แต่ก็มีวิธีการที่คล้ายคลึงกันอยู่ระหว่างวิธีที่เขาใช้กำหนดเป้าหมาย และอิทธิพลที่มีผลต่อแรงขับ และการตัดสินใจที่ Musk แสดงให้เห็นในความพยายามของเขา

Musk เชื่อว่าเพื่อลดความเป็นไปได้ในการสูญพันธุ์ มนุษย์จำเป็นต้องขยายเผ่าพันธุ์ไปยังดาวดวงอื่น ด้วยเหตุนี้ Musk จึงก่อตั้งบริษัท SpaceX ขึ้นมาโดยมีเป้าหมายระยะยาว คือ การสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร
แน่นอนว่าคงไม่ค่อยมีใครกล้าลงขันฝั่ง Musk สักเท่าไหร่ เพราะมันดูเป็นภารกิจที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ไม่รู้ทำไม Musk แสดงให้เราเห็นว่าพวกเขาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการยิงจรวดขึ้นสู่อวกาศ
อย่างที่บอกไว้ว่าเป้าหมายของตัวเราส่วนใหญ่มีข้อผูกมัดเพียงเล็กน้อย ของ Musk ก็เช่นเดียวกันครับ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เซ็นสัญญา แต่เขาก็รับผิดชอบต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งที่ปรากฏในสื่อ และในความเป็นจริง มันเป็นความรับผิดชอบที่เขาให้ไว้กับมนุษยชาติ ซึ่งแน่นอนว่ามันยิ่งใหญ่กว่าตัวเขาเอง
การเข้าใจแนวคิดการไหลลื่นของจิต
วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้คนหมดแรงจูงใจ คือ การพยายามแก้ปัญหาที่อยู่เหนือความสามารถของตัวเอง มันง่ายที่เราจะเลี่ยงไม่แก้ปัญหาพวกนี้ แต่มีหลายครั้งที่ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะในความเป็นจริงเป้าหมายระยะยาวส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ทักษะที่เราไม่มีตั้งแต่แรกทั้งนั้น

Mihaly Csikszentmihalyi นักจิตวิทยาชาวฮังการีผู้ศึกษาเรื่อง “ความสุข” มาตลอด 50 ปี เขาเป็นหนึ่งในนักวิจัยชั้นนำด้านจิตวิทยา งานวิจัยของเขาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง Flow หรือการไหลลื่นของจิตนั้นมีอิทธิพลอย่างมาก
การไหลลื่นของจิต เกิดขึ้นเมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ นี่คือภาวะของจิตที่จดจ่ออยู่กับงานจนนำไปสู่ความอิ่มเอมเบิกบานใจ จนบ่อยครั้งลืมเวลา หรือแม้กระทั่งลืมความเหนื่อยล้า นี่คือช่วงเวลาที่เราพบเห็นได้จากศิลปิน หรือนักกีฬาในตอนที่พวกเขากำลังจดจ่อกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ หรือการเล่นกีฬา
แม้ว่าสภาวะของจิตสามารถทำให้แข็งแกร่งขึ้นได้ แต่สำหรับการแก้ปัญหานั้น ความยากของปัญหาจำเป็นต้องเหมาะสมกับทักษะส่วนบุคคล ถ้าปัญหาที่เราแก้มันง่ายเงินไปก็น่าเบื่อ ส่งผลให้เราไม่มีแรงบันดาลใจในการทำ แต่ถ้าปัญหานั้นยากเกินไป พวกเราก็จะเกิดความวิตกกังวล และนั่นทำให้เราหมดแรงจูงใจที่จะพิชิตมันในที่สุด
ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้: กลยุทธ์ในการลงมือทำ Tesla
เป้าหมายในช่วงแรกของ Tesla คือ “การเร่งเดินหน้าเปลี่ยนโลกให้เข้าสู่ยุคพลังงานที่ยั่งยืน โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดแมสให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้”

เป้าหมายนี้ดูท่าจะไกลเกินเอื้อม ด้วยความที่ Elon Musk ไม่มีทั้งทักษะ และทรัพยากรที่พร้อมตั้งแต่แรกที่เริ่มทำ ทุกคนต่างคิดว่าผู้ชายคนนี้เสียสติไปแล้ว
Musk ไม่ได้นำข้อจำกัดเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรค เขาไม่ได้โฟกัสไปที่เป้าหมายใหญ่เป้าหมายเดียวที่วางไว้ตอนแรกในทันที แต่เขากลับใช้วิธีแบ่งเป้าหมายนั้นให้เล็กลงออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรก เขาทำให้ผู้คนหันมาสนใจรถไฟฟ้า โดยการพิสูจน์ว่ารถไฟฟ้าไม่ใช่รถเฉิ่ม ๆ เชย ๆ แบบที่มีอยู่ในตลาดทั่วไป แต่มันเป็นรถระดับรถสปอร์ตไฮเอนด์ที่ดูเท่ หรูหรา และสามารถใช้งานได้จริง
ส่วนที่สอง เขาเปลี่ยนโฟกัสไปสู่การประกอบรถยนต์หรูหราเน้นให้ตลาดระดับบนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อนำรายได้จากการขายให้กับกลุ่มคนมีตังค์มาเป็นทุนสำหรับการพัฒนาในอนาคต
ส่วนสุดท้าย ในปี 2017 Tesla เร่งการลงทุนเพื่อผลิต Tesla Model 3 รถไฟฟ้าในราคา 35,000 เหรียญซึ่งเป็นราคาที่ตลาดแมสสามารถจ่ายไหว
ลองนึกดูว่า ถ้า Musk ไม่ได้แบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ส่วน แต่กลับโฟกัสไปที่เป้าหมายหลักทันที นั่นจะทำให้เขาแทบจะหมดตัว ไม่เพียงแค่ทรัพยากรที่มี แต่แรงผลักดันก็เหือดแห้งด้วยเช่นกัน เพราะปัญหานั้นยากเกินไป
แนวคิดการไหลลื่นของจิตที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบแรงจูงใจ เพื่อใช้เป็นเส้นทางนำพาคุณไปสู่จุดมุ่งหมายได้ ถ้าคุณหั่นภารกิจขนาดใหญ่ออก แบ่งเป็นหลักไมล์ย่อย ๆ คุณจะรู้สึกสนุกไปกับความก้าวหน้า และจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ดี

รู้จักล้มเหลวให้ถูกต้อง
ความล้มเหลวเปรียบเหมือนชื่อเสียงในทางไม่ดี และเป็นสิ่งเราที่ควรเลี่ยง ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ล้วนถูกออกแบบมาให้ลงโทษการทำสิ่งที่ผิดพลาด แทนที่จะนำข้อผิดพลาดนั้นมาใช้เป็นข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ ดังนั้นความล้มเหลวจึงถูกมองเป็นขั้วตรงกันข้ามกับความสำเร็จ

ในความจริงแล้วความล้มเหลวไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกับความสำเร็จ มันเป็นการที่เรายังไปไม่ถึงผลลัพธ์สุดท้าย เราเรียกมันว่า การขาดความสำเร็จเพียงชั่วคราว และบางครั้งก็เป็นเรื่องดีที่เราเดินไปไม่ถึงความสำเร็จ
ถ้าต้นทุนของความล้มเหลว หรือสิ่งที่เราทำผิดพลาดนั้นต่ำ ผลตอบรับที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่า เพราะมันช่วยให้เราข้ามสิ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผลได้ นอกจากนี้ยังช่วยชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เราควรทำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่า ทุกคนต้องอยากล้มเหลวเพื่อให้ได้แนวทางที่จะไปต่อ แต่หากคุณสามารถเลี่ยงได้ก็จงทำ เพราะหลายครั้งที่ต้นทุนของความล้มเหลวนั้นมีราคาแพง ถึงแม้ว่ามันควรค่าแก่การลอง ก็จงลองด้วยความระมัดระวัง
ประเด็นสำคัญ คือ คุณไม่ควรปล่อยให้ความกลัวที่จะล้มเหลวมาขัดขวางการลงมือทำ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ อย่าให้มันมาหยุดคุณจากการทบทวนถึงสิ่งที่คุณเคยได้ทำไปแล้ว
การเปิดรับ Feedback เชิงลบ
Elon Musk ชอบพูดย้ำเสมอถึง หนึ่งในกุญสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ นั่นคือ นิสัยการให้เหตุผลจากหลักการมูลฐาน (First Principles) หากมองแค่ผิวเผิน เราก็คงนึกไม่ว่าออกว่าจะมีวิธีการใดที่ช่วยให้เราสามารถสร้างรถยนต์ หรือจรวดได้โดยเริ่มต้นจากศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆ ถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ มันคือการท้าทายสภาพที่มีอยู่เดิม นี่คือสิ่งที่ช่วยให้ Musk สามารถค้นพบแนวทางที่มีประสิทธิภาพจากสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ เขาทำได้อย่างไร
Elon Musk ให้โอกาสกับตัวเองสามารถล้มเหลวได้ตั้งแต่แรกที่เริ่มทำ นอกจากนี้เขายังท้าทายสมมติฐาน และวิธีการแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่เสมอ อีกทั้งยังเปิดโอกาสรับข้อเสนอแนะ (Feedback) เชิงลบ เพื่อนำมาใช้เพิ่มอัตรา หรือความเร็วในการสร้างนวัตกรรมให้กับบริษัทของเขาด้วย
สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงเข้ากับแรงจูงใจอย่างลึกซึ้ง
การเดินตามเส้นทางที่มีคนถางไว้แล้วอย่างไร้จุดหมาย กับการลุยไปที่ยังไม่มีคนไปมาก่อนแต่มีเป้าหมายนั้นต่างกัน คนที่มีเป้าหมายนั้น จะมีความต้องการที่จะพิชิตเป้าหมายนั้น ๆ มาเป็นแรงขับ หากคุณนำแรงขับที่ว่ามาใช้เป็นกลยุทธ์ได้ มันจะช่วยเพิ่มโอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จ มันคือการสร้างพลังบวกขึ้นมา เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการลงมือทำ และก่อให้เกิดเป็นข้อผูกมัด
ในหัวข้อที่แล้ว ความกลัวที่จะล้มเหลว คือ สิ่งที่ทำให้แรงจูงใจนั้นหายไป ดังนั้นจงใช้มันเป็นตัวปลดปล่อยความคิด และเป็นเครื่องมือแทนที่จะเป็นอุปสรรค สิ่งนี้ช่วยให้คุณก้าวข้ามอุปสรรคใหญ่ได้
ความล้มเหลวราคาถูก และ Feedback เชิงลบนั้นไม่ใช้ไอเดียที่ Sexy ความจริงมันอายเสียด้วยซ้ำเมื่อเรากำลังทำบางสิ่งล้มเหลว แต่เมื่อเรามองข้ามความไม่สมเหตุสมผลเหล่านั้น คุณจะพบว่าสิ่งเหล่านั้น คือ เครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สุดในการสร้างเหตุผลที่เป็นแรงขับให้แก่คุณ
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จาก Elon Musk
Elon Musk มองมนุษย์เป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่าควรจะเป็น และกำลังพยายามนำพวกเราไปสู่จุดนั้น แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายภาระกิจที่เพิ่งเริ่มต้น (จากศูนย์)
คงต้องใช้เวลาอีก 2-3 ทศวรรษ กว่าที่พวกเราจะได้เห็นผลผลิตจากการความพยายามของชายคนนี้ มนุษย์จะหยุดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้หรือไม่? หรือ มนุษย์จะไปลงจอดบนดาวอังคารได้หรือไม่?
มันเป็นเรื่องที่พูดยาก ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ทุกเรื่องจำเป็นต้องใช้แรงขับที่มุ่งมั่น ทั้งในการเผชิญหน้ากับความยากลำบาก และการเผชิญหน้ากับความเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะมีสักบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้จาก Elon Musk นั่นก็คือ วิธีการออกแบบแรงขับในการทำบางสิ่งที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายของตัวเราเอง
สำหรับใครหลายคนการขาดแรงจูงใจ คือ อุปสรรคที่ขวางกั้นระหว่างที่ที่เรายืนอยู่กับที่ที่เราอยากไปให้ถึง มันไม่มีสูตรสำเร็จที่จะรักษาแรงจูงใจ จะมีก็แต่การผสมผสานระหว่างกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ กับเรื่องราวบอกเล่าจากงานวิจัย ที่ช่วยให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นแม้จะสักเล็กน้อยก็ตาม