6 ข้อคิดในการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพจาก Andre F. Bourque

Andre F. Bourque นักเขียนประจำของ Entrepreneur.com เคยมีประสบการณ์พูดคุยกับผู้ประกอบการจำนวนมากที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่สิ่งที่ทำให้เขาตะลึง คือ ผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่มี Business Model ในการทำธุรกิจของตัวเองด้วยซ้ำ

Bourque ให้ข้อเท็จจริงที่ว่า ในการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ ทุกคนก็มักจะมีไอเดียที่เจ๋งที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถมีลูกค้าจำนวนมหาศาลได้ ซึ่งไอเดียนั้นจะต้องเป็นนวัตกรรมหรือมาจากการวิจัยอย่างดี และหากไอเดียดังกล่าวสุดยอด พวกเขาก็คาดหวังที่จะให้นายทุนมาสนใจ และออกเงินให้สำหรับการสร้าง Product รวมถึงสนับสนุนช่วงที่ปล่อย Product ออกไป และช่วงสร้างการเติบโตด้วย

แต่กว่าจะได้ไอเดียมาคุณต้องทำงานและพิจารณาอย่างหนัก ไอเดียที่คุณคิดลองเอามาผ่านคำถามเหล่านี้ดูซิว่าคุณสามารถตอบได้หรือไม่ เช่น มันจะสร้างรายได้ได้หรือไม่ มันจะเป็นที่นิยมมั้ยเพราะอะไร มันมีแนวโน้มที่จะล้มเหลวหรือไม่ จำไว้ว่ามีธุรกิจมากถึง 9 ใน 10 ที่ล้มเหลว อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่รอดได้

หัวข้อต่อไปนี้ คือ สิ่งที่คุณควรพิจารณาถ้าคุณต้องการพัฒนาไอเดียสำหรับสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ

1. ไอเดียของคุณควรแก้ปัญหาที่มีอยู่จริงได้

สินค้าหรือบริการของคุณจะช่วยแก้ปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่หรือไม่?

เช่น ไอเดียทำที่วางแก้วบนเครื่องซักผ้า เพื่อให้ผู้คนสามารถวางเครื่องดื่มขณะกำลังซักผ้าได้ คุณอาจจะคิดว่ามันมีของแบบนี้ด้วยเหรอ สิ่งที่ผู้ประกอบการมักพลาด คือ การคิดไอเดียเพื่อแก้ปัญหาที่ถูกจินตนาการขึ้นมา มันชัดเจนเลยว่าถ้าผู้คนไม่มีปัญหาดังกล่าว ก็ไม่มีใครซื้อของที่คุณทำมาหรอก

ในอดีต Jason Romrell แห่ง Tellit.me เคยมองหาวิธีแก้ปัญหาสำหรับการให้คะแนนเพื่อน และเพื่อนร่วมงาน และผู้คนที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Peeple ได้ เมื่อหาไม่ได้เขาก็เกิดไอเดียที่จะทำแอพของตัวเองขึ้นมาเพื่อตอบสนองงานดังกล่าว

แอพตัวนี้ช่วยให้คุณสามารถอ่านรีวิวเกี่ยวกับตัวคุณเอง ครอบครัว เพื่อน และคนอื่น ๆ ได้ จากนั้นคุณสามารถเขียนความคิดเห็นไปยังรีวิวเหล่านั้น รวมถึงให้รีวิวและคะแนนได้ โดยการให้่คะแนนและรีวิวจะผูกติดกับเบอร์มือถือของคุณ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องเปิดเผยตัวคนสำหรับการกระทำดังกล่าว

2. การบอกเล่าเรื่องราวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

เหตุผลที่คุณควรเล่าเรื่องราวการทำธุรกิจของตัวคุณเอง เพราะผู้คนมักชอบฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นของคน ๆ หนึ่งที่ใช้เวลาทั้งชีวิตในการคิดสินค้า หรือบริการที่มหัศจรรย์ขึ้นมา การเล่าว่าคุณได้ไอเดียตัวนี้มาทำธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างไร คือ สิ่งที่ควรทำ แต่ก็อย่าลืมว่าไอเดียต่าง ๆ เป็นเพียงโอกาสที่เกิดขึ้นชั่วคราว แม้ว่ามันจะยอดเยี่ยม แต่มันก็ไม่ได้คงอยู่ไปตลอดเพราะไอเดียมีโอกาสเติบโต และวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาได้

นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการพึงระวัง คือ การอย่าตามเทรนด์หรือกระแสมากจนเกินไป เพราะเทรนด์นั้นสามารถเกิดดับได้ตลอดเวลา การเล่าเรื่องที่ดี คือ การบอกกับผู้คนว่า ทำไมคุณจึงเป็นคนเดียวที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย Product ที่คุณมี นั่นคือการเล่าเรื่องที่มีคุณเป็นตัวเอก

3. ความกลัวที่จะล้มเหลว คือ ตัวขัดขวางความสำเร็จ

คุณเคยกลัวบ้างมั้ยว่าไอเดียที่คุณคิดมามันไม่เข้าท่า หรือกลัวว่าจะไม่มีคนชอบหรือเข้าใจไอเดียที่คุณคิดจะทำ ไม่แปลกเลยถ้าคุณเคยวิตกเรื่องเหล่านี้ มันเป็นเรื่องธรรมดาครับที่ผู้คนมักกลัวว่าตนเองจะล้มเหลวก่อนที่จะได้ลงมือทำ

ถ้าคุณมัวแต่บอกตัวเองว่าไม่พร้อมที่จะทำตามไอเดียที่คิดไว้ นั่นคือคุณจำกัดความสามารถของตัวคุณตั้งแต่ต้น แทนที่จะคิดในแง่ลบ คุณควรบอกตัวเองว่าคุณทำได้ และอย่าลืมว่า “ไม่มีใครสามารถทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวได้” ดังนั้นทีมที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้ คือ สิ่งที่คุณต้องหาในการทำธุรกิจ

4. หมั่นขอความเห็นจากลูกค้า

เมื่อคุณมีทีมแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณกับทีมต้องออกไปขอความเห็นจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ผู้คนส่วนใหญ่มักถนอมน้ำใจ เมื่อคุณไปนำเสนอไอเดียกับพวกเขา แม้ว่าจะเป็นไอเดียที่แย่ก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราถูกสอนมาว่าอย่าทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่น ประเด็นที่สำคัญกว่า คือ ทำอย่างไรที่คุณจะได้ความเห็นที่ตรงไปตรงมาจากลูกค้าได้

ทางเดียวที่คุณจะได้คำตอบที่แม่นยำ คือ การถามว่า พวกเขาเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำหรือไม่ เช่น “คุณเห็นด้วยมั้ยที่ฉันจะขายเสื้อกันหนาวให้กับนักท่องเที่ยวในฮาวาย” แน่นอนว่าผู้คนจะตอบว่า “ไม่” ทันที เพราะมันเป็นไอเดียที่แย่มาก เมื่อคุณได้ผลตอบรับมาแล้ว หากไอเดียมันยังไม่ใช่ก็ให้ทิ้งไอเดียนั้นไป และลองหาไอเดียใหม่เพื่อไปถามจนกว่าคุณจะได้ไอเดียที่ดีและเหมาะกับคุณ

5. ไอเดียนี้คุณรักที่จะทำมันหรือไม่

เมื่อคุณนึกไอเดียดี ๆ ออก อีกสิ่งหนึ่งที่คุณต้องพิจารณา คือ ไอเดียนั้นคุณรักที่จะทำมันจริงหรือไม่ เช่น ถ้าคุณเป็นคนชอบทำอาหาร ลองมองหาปัญหาที่เกิดขึ้นในครัวและคิดดูว่าคุณมีวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไรบ้าง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการได้ไอเดียทำธุรกิจ

นอกจากนี้คุณอาจพิจารณาถึงสิ่งที่คุณสนใจ สิ่งที่ทำให้คุณเพลิดเพลินได้จนลืมเวลา สิ่งที่ทำให้คุณได้เรียนรู้และรู้สึกตื่นเต้นที่จะทำ สิ่งที่สามารถเติมเชื้อไฟให้กับคุณได้ตลอด เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับไอเดียที่ยิ่งใหญ่

6. อย่ายึดติดกับไอเดียแย่ ๆ

หนึ่งในข้อผิดพลาดอย่างมหันสำหรับผู้ประกอบการ คือ การยึดติดกับไอเดียดี ๆ ที่สามารถกลายเป็นไอเดียแย่ ๆ ได้ กรณีนี้แทบไม่ต่างกับการเริ่มต้นธุรกิจด้วยไอเดียแย่ ๆ ตั้งแต่แรก สิ่งที่คุณต้องทำ คือ เมื่อคุณคิดไอเดียอะไรออก คุณจำเป็นต้องหาเกณฑ์มาประเมินความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของไอเดียนั้น

ลองใช้เวลา 1-3 เดือน หาเกณฑ์ที่ใช้ประเมิน ถ้าคุณไม่สามารถหาเกณฑ์ที่ใช้ประเมินความสำเร็จได้ ให้ทิ้งไอเดียนั้นแล้วมองหาไอเดียใหม่ อย่าอายที่จะลองทำสิ่งต่าง ๆ แม้ว่ามันจะจบไม่สวยก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุด คือ การที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น และมุ่งหน้าต่อไป

Comments

comments