10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 2

มาถึงตอนที่ 2 ของ 10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ในตอนนี้ผมนำเสนอสตาร์ทอัพอีก 3 เจ้า จะเป็นใครบ้างไปอ่านกันได้เลยครับ

4.Buffer

10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 2Photo credit: Idea to Paying Customers in 7 Weeks- How We Did It

Buffer เป็นแอพที่ให้คุณสามารถตั้งเวลาในการโพสต์ข้อความบน social network ได้ ช่วงเริ่มต้น Joel Gascoigne ผู้ก่อตั้งไม่อยากที่จะจมอยู่กับการทำ product ที่ทำมาแล้วไม่มีคนใช้ ดังนั้นเขาจึงใช้ MVP ทดสอบด้วยการทำหน้า landing page ขึ้นมา 1 หน้า เขียนอธิบายว่า Buffer คืออะไร ทำงานอย่างไร และกระตุ้นให้คนกดเข้ามาสมัคร รวมถึงสามารถเลือก plan ต่าง ๆ ที่สนใจซึ่งมีราคาติดอยู่

เมื่อทำ landing page เสร็จเขาเขียนข้อความสั้น ๆ ว่า product ตัวนี้ยังไม่พร้อมใช้ ใครที่สมัครจะได้รับข่าวสารอัพเดท Joel นำอีเมล์ของผู้สมัครเหล่านั้นมาสนทนาพูดคุย เพื่อหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงรับฟังผลตอบรับและความต้องการของผู้ใช้อีกด้วย

จากนั้นเขาทดสอบอีกสมมติฐาน โดยการเพิ่มตารางราคามาคั่นระหว่าง หน้า landing page กับหน้าฟอร์มสมัคร (ดูจากรูปด้านบน) เมื่อมีคนกดปุ่มราคา เว็บจะแสดง plan ต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้เพื่อดูว่าเขาสนใจที่จะจ่ายเงินมั้ย การทดสอบนี้ช่วยให้ Joel เห็นว่าคนเข้าเว็บกี่คนที่มีคุณสมบัติพอจะกลายมาเป็นลูกค้าจ่ายเงินใช้บริการของ Buffer ได้

MVP แบบ zero-risk หรือไร้ความเสี่ยง ช่วยให้ Buffer ค้นพบตลาดและกำหนดฟีเจอร์ของ product ที่จะต้องพัฒนาได้

5. Zappos

10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 2Photo credit: Zappos

ทุกวันนี้ พวกเรารู้แล้วว่าผู้คนสะดวกสบายในการซื้อรองเท้าออนไลน์มากแค่ไหน เมื่อ Zappos ประกาศยอดขายประจำปีมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ และถูก Amazon ซื้อไปในราคา 1.2 พันล้านเหรียญในปี 2009 ย้อนไปปี 1999 Nick Swinmurn ผู้ร่วมก่อตั้งต้องการที่จะสร้างร้านค้าปลีกออนไลน์ที่สต็อกรองเท้าดี ๆ ไว้ขาย แต่ก็ต้องมีการทดสอบสมมติฐานกันก่อนว่ามีคนต้องการซื้อรองเท้าออนไลน์มั้ย

แทนที่จะลงทุนระบบไอทีและการสต็อกสินค้าในตอนแรก Swinmurn เริ่มจากการตระเวนออกไปถ่ายรูปรองเท้าจากร้านค้าในท้องถิ่นมาลงเว็บไซต์ เพื่อประเมินความต้องการของตลาด เมื่อมีคนสั่งซื้อรองเท้า เขาจะกลับไปที่ร้านค้าและซื้อรองเท้ามาจัดส่งให้ นี่คือคำตอบของ Zappos ที่ถูกถามว่าตลาดยอมรับร้านขายรองเท้าออนไลน์ของพวกเขาหรือไม่

เทคนิค Wizard of Oz (คนหลังม่าน) ถูกยกขึ้นมาใช้เพื่อทดสอบสมมติฐานทางการตลาดในเคสนี้ โดยเริ่มจากการทำเว็บแบบง่าย ๆ ที่ดูเหมือนใช้งานได้จริง แต่จริง ๆ คือ มันถูก fake ขึ้นมาเพื่อทดสอบตลาด ก่อนที่จะลงทุนทำระบบใช้งานได้จริง และลูกค้าก็เชื่อว่าประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับจากสั่งซื้อนั้นเป็นของจริง ทั้ง ๆ ที่เบื้องทั้งหมดของเว็บไซต์ทำแบบ manual โดยคน 1 คนตั้งแต่การเดินไปซื้อรองเท้าจากร้านค้าและจัดส่งให้ลูกค้า และนี่คือเคสของ Zappos โดย Swinmurn ครับ

6.Twitter

10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 2Photo credit: Famous First Landing Pages

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ Twitter คือ เว็บ podcast ที่ชื่อ Odeo เมื่อ Apple ประกาศออกมาว่า iPod จะมีความสามารถในการทำ podcast ให้คนบันทึกเสียง และอัพโหลดขึ้น iTunes ได้ เท่านั้นแหละอนาคตของ Odeo จบเห่ในบันดล บริษัทจึงเร่งจัดงาน Hackathon ขึ้นเพื่อให้พนักงานเค้นไอเดียใหม่ ๆ ออกมา หนึ่งในนั้นมีไอเดียเรื่องการแบ่งปันสถานะไปยังกลุ่มคนผ่านทางข้อความ sms โค้ดเนม คือ “twttr” (Twitter ที่ตัดสระออกไป ใครสนใจเรื่องราว Twitter หาอ่านได้จากหนังสือ “Hatching Twitter เขาเรียกผมว่าคนทรยศ” ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป)

Prototype หรือซอฟต์แวร์ต้นแบบตัวแรก เป็นบริการที่ใช้กันเองระหว่างพนักงานในบริษัท Odeo  และพนักงานก็ติดเจ้าบริการตัวนี้มากเสียจน บิลค่า sms ของบริษัทสูงถึงหลายร้อยเหรียญต่อเดือน ด้วยเหตุนี้ทีมพัฒนาต้องการให้ Twitter ออกสู่สาธารณะ ซึ่งการเปิดตัวภายในงาน SXSW ปี 2007 ทำให้มีผู้คนแห่ทะลักเข้ามาใช้ Twitter อย่างล้นหลาม จากการที่สมาชิกภายในงานโพสต์ข้อความเกี่ยวกับงานขึ้นไปปรากฏบนจอทีวีที่ติดตั้งภายในงาน

สรุป

  • Buffer สร้าง landing page ขึ้นมาเพื่อดูว่า product มีคนต้องการมั้ย โดยวิเคราะห์จากคนสมัคร และเพิ่มตารางราคาเข้าไปเพื่อหาลูกค้าที่จะจ่ายเงินซื้อ product นี้
  • Zappos ใช้วิธีการเดียวกับ AirBnb และ Groupon คือ Wizard of Oz ยังไม่มีระบบใช้งานได้จริง มีแค่เว็บง่าย ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อทดสอบตลาด เมื่อเห็นว่ามีตลาดรองรับค่อยไปทำของจริง
  • Twitter เน้นที่การสร้าง Prototype ระบบต้นแบบที่ใช้งานได้จริงและทดสอบกันภายในบริษัท เมื่อเห็นว่าพนักงานติดจึงค่อยคิดขยาย product ออกสู่สาธารณะให้คนทั่วไปใช้งาน

Comments

comments