Dan Norris กับวิถีการทำสตาร์ทอัพให้สำเร็จใน 7 วัน (The 7 Day Startup)


The 7 Day Startup: You Don’t Learn Until You Launch โดย Dan Norris คือ หนังสือที่ตบแนวทางการทดสอบสมมติฐานในหนังสือ The Lean Startup ของ Eric Ries ได้กระจุยเล่มหนึ่งทีเดียว

หากใครเคยอ่าน The Lean Startup มาก่อน หัวใจสำคัญของเล่ม คือ วงจร Build-Measure-Learn หรือการตั้งสมมติฐานขึ้นมาเพื่อทดสอบ วัดผล และเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ คล้ายกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนำไปสู่การลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในธุรกิจสตาร์ทอัพให้มากที่สุด

แต่ในเคสของ Dan เขาไม่มีเวลามาพอที่จะมาตั้งและทดสอบสมมติฐานในการสร้างธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) เนื่องจากเงินกำลังจะหมด และเขาเองต้องเตรียมตัวย้ายเมืองเพื่อหางานใหม่

สถาณการณ์ที่บีบบังคับเช่นนี้ทำให้ Dan ตัดสินใจปล่อย Product ออกไปก่อนแล้วค่อยมาเรียนรู้ทีหลังจากผลตอบรับที่ได้จากลูกค้าจริง โดยใช้เวลาเพียง 7 วัน เพื่อพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจได้

วลีสุดฮิตที่ปรากฏบนชื่อหนังสือ “You Don’t Learn Until You Launch” หรือ ” คุณยังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจนกว่าคุณจะปล่อย (Product) ออกไป” คือสิ่งที่ Dan ได้รับจากความล้มเหลวในการทำธุรกิจตลอดระยะเวลา 14 ปี และเขาตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเปลี่ยนจากการเป็น Wantrepreneur (คนที่อยากเป็นผู้ประกอบการ) ให้กลายเป็น Entrepreneur และจากคนที่มีแค่ไอเดีย ให้กลายเป็นคนที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพ

เรื่องราวของ Dan Norris (โดยย่อ)

Dan Norris มีความฝันเหมือนคนทั่วไปคือต้องการเป็นเศรษฐีเงินล้านก่อนวัย 30 ปี ในปี 2006 Dan อายุได้ 26 ปีเขาตัดสินใจลาออกจากบริษัทมาก่อตั้งบริษัทตัวเอง ซึ่งเป็นบริษัทรับสร้างเว็บไซต์ให้กับลูกค้า โดยเขาตั้งเป้าว่าธุรกิจจะต้องทำกำไรและช่วยให้ Dan มีรายได้ 1 แสนเหรียญต่อปี

แต่เป้านั้นก็ยังดูห่างไกลเพราะเขาทำได้เพียง 4 หมื่นเหรียญต่อปีเท่านั้น ธุรกิจดำเนินมาจนถึงปี 2012 และเคยมีการซื้อบริษัทอื่นเข้ามาแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่ง Dan คาดว่าการซื้อกิจการจะช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้ผลประกอบการจะดีขึ้นแต่ต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ รายได้ยังคงอยู่ที่ 4 หมื่นเหรียญต่อปี

สุดท้ายมันเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถทำกำไรเพิ่มได้อีกแล้ว และ Dan ตระหนักว่าเขาไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก จึงตัดสินใจขายกิจการและออกมาเริ่มทำสตาร์ทอัพตัวแรก ในตอนนั้นเขามีเงินพอที่จะเลี้ยงชีพได้อีก 12 เดือน และถ้าหากยังไม่ได้ Traction เขาจำใจจะต้องย้ายครอบครัวไปยังเมืองอื่นและมองหางานใหม่

ไอเดียต่าง ๆ ผุดขึ้นมามากมาย แต่สุดท้ายเขาเลือกทำ Analytic Dashboard ที่ชื่อว่า Informly ตลอดระยะเวลา 12 เดือน Dan คิดเสมอว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไปได้ดี, มี Traction ที่ดี, มีคนมาสมัครใช้งานฟรีจำนวนมาก และสตาร์ทอัพได้ไปออกสื่อชื่อดัง นอกจากนี้เขายังคิดว่าเขามีทีมที่ดี ที่ช่วยกันสร้าง Product ที่เจ๋ง มีเอกลักษณ์ มีประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาใหญ่ให้กับผู้คน และก็มีบางคนยอมจ่าย

“ผ่านไป 11 เดือน ผมมีรายได้ต่อเดือนที่ 476 เหรียญ แต่มีรายจ่ายต่อเดือนกว่า 2,000 เหรียญ” Dan กล่าว “ผมใช้เงินทั้งหมดไปกับการทำสตาร์ทอัพตัวแรก และมันกำลังจะหมดภายในอีก 2 สัปดาห์ ผมเริ่มคิดถึงการมองหางานใหม่ในเมืองใกล้ ๆ และผมก็รู้ดีว่าผมล้มเหลวอีกแล้ว”

ทำสตาร์ทอัพสำเร็จได้ภายใน 7 วัน

เหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ Dan นำประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำสองธุรกิจแรกมาใช้กับไอเดียใหม่ เขาไม่มีเวลา 7 ปี หรือ 11 เดือน แต่สรุปได้ว่าตอนสิ้นสัปดาห์ ถ้าไม่ได้ Traction จากไอเดียใหม่ก็ต้องมองหางานใหม่ทำแล้ว

เวลาที่จำกัดกระตุ้นอะดรีนาลีนของ Dan ให้คิดหาทางที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ แทนที่จะมาใช้เวลากับการวางแผนธุรกิจ ชายหนุ่มกลับโฟกัสไปที่หนทางที่ลูกค้าจะยอมจ่ายเงิน และนี่คือสิ่งที่เขาเลี่ยง:

  • หลีกเลี่ยง Sexy idea: เน้นไปที่การแก้ปัญหา และขายบริการให้เร็วที่สุด
  • ความล้มเหลว: Dan ล้มเหลวมาตลอดระยะเวลา 14 ปี และในตอนนี้เขาไม่มีเวลามากังวลเรื่องความล้มเหลว หรือจุดอ่อนของตัวเอง
  • การสอบถามไอเดีย: Dan เคยใช้เวลาสอบถามความเห็นเกี่ยวกับไอเดียของเขา แต่ตอนนี้ไม่มีเวลาที่จะทำมันแล้ว
  • สมมติฐาน: ไม่มีเวลามากพอที่จะมาตั้งและทดสอบสมมติฐาน Dan จำเป็นต้องปล่อยออกไปทันที
  • เรื่องหยุมหยิม: เขาไม่ได้มีเวลาเป็นเดือนในการออกแบบโลโก้ หรือตั้งชื่อบริษัท Dan ใช้เวลา 1 วันในการติดตั้งเว็บไซต์
  • กลยุทธ์การตั้งราคา: Dan ตั้งราคาขึ้นมาตัวหนึ่ง และให้ลูกค้าเป็นคนบอกเองว่ามันเหมาะสมหรือไม่ โดยวัดจากคุณค่าที่พวกเขาได้รับ
  • ช่องทางการชำระเงินที่สมบูรณ์แบบ: Informly ใช้เวลา 6 เดือนในการติดตั้งช่องทางการชำระเงินออนไลน์ แต่ตอนนี้ Dan ใช้เพียงปุ่ม Paypal ซึ่งใช้เวลาติดตั้งเพียง 30 นาทีเท่านั้น

สตาร์ทอัพตัวที่สองของ Dan คือ WP Live Ninja (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น WPCurve) เป็นบริการซัพพอร์ตแก้ปัญหาเกี่ยวกับ WordPress ตลอด 24/7 ในราคา 69 เหรียญต่อเดือน Dan ใช้เวลาในช่วงวันเสาร์จดโดเมน และปล่อยออกไปในวันอังคาร และวันพุธส่งอีเมล์ออกไปแจ้งว่าเริ่มให้บริการแล้ว และได้ลูกค้า 1 คนในวันนั้น

ปูทางแนวคิดการทำสตาร์ทอัพให้สำเร็จใน 7 วัน จาก The 7 Day Startup

ภายใน 1 สัปดาห์ Dan ได้ลูกค้าจ่ายเงิน 10 ราย รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 476 เหรียญ ซึ่งพอ ๆ กับรายได้ 11 เดือน ที่ทำได้จาก Informly แม้จะดูเป็นจำนวนไม่เยอะ แต่ความตื่นเต้นของ Dan นั้นพุ่งทะลุเพดานไปแล้ว

ชายหนุ่มกล่าวว่า “เพราะมันเป็นธุรกิจที่ผู้คนลงคะแนนเสียงด้วยเงินในกระเป๋า Wordpress มีปัญหาจุกจิกรบกวนผู้ใช้ ทำให้พวกเขายอมควักเงินจ่าย และ WPCurve ก็เป็นบริการที่สามารถทำรายได้ซ้ำได้ทุกเดือน และผมก็มองเห็นแนวทางที่จะขยายมันได้ต่อไปอีกในอนาคต”

WPCurve เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใน 23 วัน ธุรกิจสามารถทำเงินที่ cover ต้นทุนได้หมด และเมื่อครบเดือน Dan ได้ชวน Alex มาเป็น Co-Founder อีกคน ในแต่ละเดือน WPCurve มีอัตรการเติบโตที่ 15% ผ่านไป 13 เดือน พวกเขามีรายได้ 33,000 ต่อเดือน จากลูกค้า 475 ราย

Dan กล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุด คือนี่เป็นธุรกิจจริง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอัตราการเติบโตสูงในตลาดขนาดใหญ่ และมีศักยภาพ และมันใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น”

สตาร์ทอัพในความหมายของ Dan Norris

ในหนังสือเล่มนี้ Dan ชอบใช้คำว่า “สตาร์ทอัพ” มากกว่า “ธุรกิจ” ธุรกิจ คือ อะไรก็ตามแต่ที่สามารถทำเงินมาจ่ายค่าแรงของผู้ก่อตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแฟรนไชส์ หรือการเปิดร้านที่หัวมุม เหล่านี้ไม่ใช่สตาร์ทอัพ

สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่น่าตื่นเต้นกว่าเล็กน้อย จากการที่มัน:

  1. สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่
  2. มีนวัตกรรมในระดับสูง
  3. มีความไม่แน่นอนในระดับสูง

ธุรกิจในท้องถิ่นไม่สามารถเป็นสตาร์ทอัพได้ เนื่องจากขาดความทะเยอทะยานที่จะไประดับโลก แม้กระทั่งแฟรนไชส์เองก็ยังมีกฏเกณฑ์ข้อบังคับของตัวมันเองที่ไม่สามารถเป็นสตาร์ทอัพได้ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ได้

Eric Ries ให้นิยามสตาร์ทอัพไว้ว่า

“A startup is a human institution designed to deliver a new product or service under conditions of extreme uncertainty”

แม้ว่าการทำสตาร์ทอัพจะมีความไม่แน่นอนสูง (ตามที่ Ries ให้คำนิยาม) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเสี่ยงทุกอย่างในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่ง The 7 Day Startup เขียนขึ้นมาเพื่อช่วยลดความเสี่ยง ในการทำสตาร์ทอัพคุณไม่สามารถคาดการณ์หรือแน่ใจได้ 100% ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักมาพร้อมกับการทำธุรกิจที่ไร้นวัตกรรม

ถ้าธุรกิจไม่มีนวัตกรรมเลย ไม่นับว่าเป็นสตาร์ทอัพ นี่คือเหตุผลว่าทำไมสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จึงเป็นธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามนวัตกรรมก็สามารถถูกนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ ได้นอกเหนือจากเทคโนโลยี

สุดท้ายด้วยความที่เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง และมีนวัตกรรมในระดับสูง สตาร์ทอัพจึงมีความสามารถที่จะเปลี่ยนโลกได้ เหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมคุณควรคิดเกี่ยวกับการปล่อย “สตาร์ทอัพ” แทนที่จะเป็น “ธุรกิจ” นั่นก็เพราะ

 “Anyone can create a job for themselves. But not everyone can change the world”

หรือ “ใคร ๆ ก็สามารถสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเปลี่ยนโลกได้”

ในบทความหน้าห้ามพลาด บทสรุปการทำสตาร์ทอัพใน 7 วันจาก The 7 Day Startup

Comments

comments