หนังสือ ที่…หัวมุมถนน ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เป็นหนังสือที่ทำให้ผมรู้จักกับ Podcast ของ Mission to the moon ในเล่มคุณรวิศบอกว่าแกอัด Podcast ทุกวัน คือ ตื่นตอนช่วงตี 4 ไปวิ่ง กลับจากวิ่งมาค้นหาข้อมูลทำ Podcast ในตอนเช้า ก่อนออกไปทำงาน กลับบ้านมาใช้เวลาตอนกลางคืนอัด Podcast จากข้อมูลที่เตรียมไว้ในตอนเช้า สุดยอดมาก ๆ

แน่นอนว่าผมเริ่มต้นทำ START IT UP Podcast จากการอ่านหนังสือเล่ม ที่…หัวมุมถนน นี่แหละครับ ช่วงแรกผมลองอัดทุกวัน โดยการไล่อ่าน Content จากบทความเก่า ๆ ที่ผมเคยตีพิมพ์ไปบนบล็อก มันเป็นการแปลงบทความจากข้อความมาเป็นเสียงนั่นเอง ผมพบว่าพลังของ Consistency ในการทำ Content มันไม่ธรรมดาจริง ๆ ครับ หมายถึงถ้าเราทำทุกวันแล้วมีคนติดตาม เราจะเห็นการเติบโตของยอดผู้ฟังได้อย่างน่าประหลาดใจ

ช่วงหลังผมไม่ได้ไล่อัด Podcast ทุกวัน แต่จะพยายามนะครับ เพราะต้องสลับมาเขียนบทความด้วย อย่างบทความล่าสุด แชร์ประสบการณ์ และแนวทางการเขียน Ebook สร้างรายได้แบบ Passive Income เป็นบทความยาวใช้เวลาในการเขียนหลายวัน

อย่างไรก็ตามการลงมือทำ Podcast ทำให้ผมรู้จักกับสตาร์ทอัพที่ชื่อ Anchor.fm ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผมใช้ Publish Podcast ขึ้นไป ปัจจุบันสตาร์ทอัพตัวนี้ถูก Spotify ซื้อไปแล้ว ไว้มีเวลาผมจะทำบทความเกี่ยวกับการทำ Podcast ให้กับคนทั่วไปที่สนใจได้ลองไปลงมือทำ Podcast กันดูนะครับ

และจากการงมหาบทความเกี่ยวกับการทำ Podcast ใน Medium เพิ่มเติมนี้เอง ทำให้ผมได้รู้จักกับสตาร์ทอัพ Podcast เจ้าหนึ่งชื่อว่า Castbox ซึ่งเรื่องราวของผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพตัวนี้น่าสนใจมาก เพราะผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงที่ต้องสู้กับโรคซึมเศร้า เสี่ยงทุกอย่างแม้กระทั้งการขายบ้านตัวเอง เพื่อเป็นเงินทุนสานฝันในการทำสตาร์ทอัพ และเธอยังทำนายอนาคตของคอนเทนต์เสียงได้อย่างน่าสนใจ หากคุณพร้อมแล้วเรามาเริ่มเรื่องราวของ Renee Wang อดีตพนักงาน Google ที่ผันตัวมาทำธุรกิจสตาร์ทอัพนามว่า Castbox กันครับ

อดีตพนักงาน Google ขายบ้านราคาครึ่งล้าน เพื่อสานฝันปั้นโคตรแพลตฟอร์มพอดแคสต์
Renee Wang, CEO of Castbox

เรื่องราวของ Renee Wang

Renee Wang เกิดในครอบครัวชาวจีน ยุคที่รัฐบาลประกาศนโยบายให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้เพียง 1 คน เด็กที่เกิดในยุคนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ เด็กรุ่นที่โดดเดี่ยวที่สุด พูดง่าย ๆ คือ ไม่มีพี่น้องนั่นเอง

ในวัย 12 ปี เด็กหญิงเข้าเรียนที่โรงเรียนกินนอนในชนบทนอกกรุงปักกิ่ง แต่ละห้องเรียนที่นั่นต้องรองรับเด็กถึง 75 คน ทุกคนได้อาบน้ำเพียงเดือนละครั้ง และไม่มีโทรศัพท์ใช้

โรคซึมเศร้าในวัยเด็ก

เป็นเวลา 3 ปี ที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว และซึมเศร้า เด็กคนอื่น ๆ ที่เข้าโรงเรียนมาต่างมีเพื่อนร่วมชั้น 16-17 คนที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน แต่สำหรับ Renee เธอเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวที่มาจากเมืองที่เธออยู่ และพูดภาษาถิ่นอื่น

แม้ว่าเธอจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ Renee ก็มีผลการเรียนที่ดี เธอได้คะแนนสอบสูงสุดในชั้นเรียน เด็กหญิงต้องการที่จะออกจากโรงเรียนแห่งนี้ แต่มีครูคนหนึ่งบอกว่า ถ้าเธอออกไปจากโรงเรียนถ้าจะกลายเป็นที่น่ารังเกียจ ที่ครูคนนั้นทำให้ Renee รู้สึกอับอาย เพียงเพราะหวังให้เด็กคนนี้อยู่ต่อ ด้วยเหตุผล คือ คะแนนสอบที่สูงของเธอทำให้โรงเรียนสามารถเชิดหน้าชูตาได้

Renee ใช้วิธีแก้ปัญหาเรื่องความโดดเดี่ยว โดยเล่นการเมืองกับกับกลุ่มคน 3 กลุ่มในโรงเรียน ได้แก่ กลุ่มมาเฟีย กลุ่มเด็กเรียนดี และกลุ่มหมาหัวเน่า

เธอช่วยให้ความขัดแย้งในกลุ่มสมาชิกพวกมาเฟียหมดไป ติวหนังสือให้กับกลุ่มเด็กเรียนดี และปกป้องพวกหมาหัวเน่าโดยการใช้ประโยชน์จากกลุ่มมาเฟียที่เธอช่วยไว้

ในช่วงมัธยมศึกษา ภาวะซึมเศร้าของ Renee เริ่มแย่ลง เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปี จนในที่สุดมันกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนต่อสาขาจิตวิทยา

สู้เพื่อ Google เท่านั้น

การเป็นพนักงานของ Google เป็นความฝันของ Renee ปัญหาคือเธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่พนักงานของ Google ต้องมี และเมื่อโอกาสเรียกสัมภาษณ์มาถึง เธอได้ลาออกจากบริษัทที่สอง ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลบนอุปกรณ์พกพา เพื่อเตรียมตัวสัมภาษณ์กับ Google

เธอศึกษาบทความเจ็ดหน้าที่เพื่อนของเธอแปลให้ ในกระดาษครึ่งหนึ่งเป็นเนื้อหาภาษาอังกฤษ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นภาษาจีน เธอเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองเป็นเวลากว่า 3 เดือน

และแล้ววันสัมภาษณ์ก็มาถึง แน่นอนว่า Renee ตกสัมภาษณ์ตั้งแต่รอบแรก

Renee อาศัยอยู่หอเพื่อน เนื่องจากเธอไม่มีเงินเก็บเหลือ เธอได้ขอให้สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ช่วยแนะนำเธอให้กับ Google เธอลองสมัครงานไป 3 ตำแหน่งในครั้งเดียว และเปลี่ยนชื่อทุกครั้งตอนที่ส่งข้อมูลสมัครไป “ฉันถูกปฏิเสธจนจำไม่ได้แล้วว่ากี่ครั้ง” เธอกล่าว

มันใช้เวลา 8 เดือนกว่าจะได้เข้าไปทำงานกับ Google

ในช่วงนั้น เธอปฏิเสธข้อเสนอจากบริษัทไอทีชื่อดังหลายเจ้าในจีน รวมถึงเจ้าใหญ่อย่าง Baidu และ Tencent ด้วย  ความปรารถนาของผู้หญิงคนนี้มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ การได้เข้าทำงานกับ Google

วันหนึ่งเธอได้ไปสัมภาษณ์รอบสุดท้ายของ Tencent ซึ่งเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเงินเดือน แต่เมื่อได้ยินข่าวว่า Google มาที่งาน Job Fair ของมหาวิทยาลัยที่อยู่ข้าง ๆ บริษัท Tencent เธอจึงขอถอนตัวจากการสัมภาษณ์ และนั่งแท็กซี่ไปที่งาน Job Fair พร้อมกับ Resume ชุดหนึ่งติดมือไปด้วย

6 เดือนหลังจากนั้น เธอถูกปฏิเสธอีกครั้ง เนื่องจากถูกมองว่ายังอ่อนประสบการณ์เกินไป

ต่อมาบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่อย่างออราเคิล ก็ได้เสนอตำแหน่งงานให้กับ Renee แต่ด้วยความสิ้นหวัง และความยากจน Renee ได้แต่ก้มหน้ารับสภาพ และตอบตกลงรับตำแหน่งงานของออราเคิลในปี 2011

ในวันแรกของเธอกับออราเคิล Renee ได้รับการติดต่อจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Google คนปลายสายขอคุยกับ Renee Wang (ชื่อจริงของเธอ คือ Wang Xiaoyu) และเสนอตำแหน่งงานผู้ช่วยให้กับเธอ แน่นอนว่าเธอตอบรับงานนั้นทันที และลาออกจากออราเคิลในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

ไอเดียสำหรับ Castbox

การได้ทำงานกับ Google ในอีก 4 ปีต่อมา Renee ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น Account Manager หรือผู้จัดการที่ดูแลลูกค้า โดยโฟกัสไปที่การสร้างรายได้ฝั่งอุปกรณ์พกพา บริษัทเสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่ได้ย้ายเธอไปทำงานที่ไอร์แลนด์ จากนั้นเป็นประเทศญี่ปุ่น

การเดินทางไปยังออฟฟิศของ Google ที่ญี่ปุ่นของ Renee อาศัยการนั่งรถไฟไปทำงาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ด้วยความที่เป็นคนหมกมุ่นกับการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตนเอง เธอจึงใช้เวลาที่กำลังเดินทางอยู่นั้นฟังพอดแคสต์ เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่น

“ฉันใช้เวลานานพอสมควรเพื่อหาคอนเทนต์ดี ๆ ฟังเหมือนอย่างเคย ซึ่งมันใช้เวลานานอยู่หลายชั่วโมง” เธอกล่าว

ปัญหาเรื่องการหาคอนเทนต์ดี ๆ ฟังยากนั้น กระตุ้นให้ผู้หญิงคนนี้อยากกลับไปเขียนโปรแกรมอีกครั้ง โดยเธอลาออกจาก Google ในปี 2015 เพื่อโฟกัสกับการแก้ปัญหานี้ โดยการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้คนสามารถค้นหาคอนเทนต์เสียงได้ง่ายขึ้น

“งานนี้ฉันไม่ได้ทำคนเดียว” เธอกล่าว “ทั้งหมดมันอยู่ในเท็กซัส โฮลเอ็ม ฉันรู้” เธอพูดพร้อมกับรอยยิ้ม นั่นหมายความว่า งานสร้างแพลตฟอร์มจำเป็นต้องมีทีมที่ช่วยในการพัฒนา เหมือนกับการเล่นโป๊กเกอร์ที่เล่นคนเดียวไม่ได้

เธอใช้เวลาในการสร้างแพลตฟอร์มเพียง 4 วัน ตอนนั้นเป็นช่วงต้นเดือนมกราคม 2016 เมื่อถึงเวลาอัพโหลดแอพขึ้นไปบน Google Play Store เธอจำเป็นต้องตั้งชื่อแอพ

ตรรกะที่ Renee ใช้ในการตั้งชื่อแอพ Castbox มาจากความต้องการของเธอ ที่ต้องการให้ชื่อแอพเริ่มต้นจากตัวอักษร A B หรืิอ C เนื่องจากตัวอักษรเหล่านี้อยู่ในลำดับแรก ๆ และมักจะปรากฏในลำดับต้น ๆ ของรายการแอพบนสโตร์ จากนั้นเธอประกอบคำว่า broadcast ด้วยคำว่า box และได้กลายมาเป็น Castbox นั่นเอง

ภายใน 30 วัน ยอดคนโหลดแอพ Castbox สูงถึง 500,000 คน Renee รู้ได้ทันทีว่าเธอได้ค้นพบ Product-Market Fit หรือสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้แล้ว

แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่เพียงพอ Renee ต้องการทำความเข้าใจฐานผู้ใช้ของเธอมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการเข้าใจผู้ใช้อย่างถ่องแท้จำเป็นต้องใช้เงิน และเงินเงินของเธอกำลังจะหมด

ดังนั้นในเดือนมีนาคม Renee ตัดสินใจขายบ้านของเธอเองในกรุงปักกิ่ง เพื่อนำเงิน 500,000 เหรียญ มาใช้เป็นทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ Castbox โดยใช้สำหรับจ่ายค่า Adwords และจ่ายค่าจ้างพนักงานใหม่

“ฉันไม่รู้สึกอะไรเลยตอนที่ขายบ้าน” เธอพูด “การขายบ้านทำฉันเจอตัวเองที่ดีกว่าเดิม นั่นคือความปลอดภัยของฉัน ความรู้ในอุตสาหกรรมมีค่าสำหรับฉันมากกว่าบ้านหลังนั้น”

หลังจากที่ได้เงินจากการขายบ้าน Renee เรียนรู้ว่าผู้ใช้ Castbox นั้นใช้เวลาอยู่ในแอพประมาณครึ่งชม.ต่อวัน

“ความสนใจเท่ากับเงิน” เธอกล่าว ถ้าคุณสามารถทำให้ผู้คนใช้เวลาไปกับแอพของคุณได้ คุณรู้เลยว่าคุณมีบางอย่างที่มีคุณค่า

ภายในสองเดือน นักลงทุนก็เริ่มมาเคาะประตู

ในการประชุมกับนักลงทุนเป็นเวลา 1 ชม.ครึ่ง เธอตกลงเซ็นสัญญาลงใน Term-Sheet สำหรับเงินลงทุน 1 ล้านเหรียญ เพื่อใช้สร้างแอพบน iOS ในช่วงกลางปี 2017 Castbox ระดมทุนได้อีก 16 ล้านเหรียญ และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 7 ล้านคน ในเดือนมีนาคม 2018 จำนวนผู้ใช้ Castbox เพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน

Castbox แตกต่างจากแอพพอดแคสท์ตัวอื่นอย่างไร

อย่างที่เราทราบกันว่าทั้ง Apple กับ Google ต่างก็มีแอพพอดแคสต์เป็นของตัวเอง แล้วทำไมต้องพยายามเอาชนะยักษ์ใหญ่ในเกมของตัวเอง

Renee ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่แตกต่างสองประการ ที่เธอและสตาร์ทอัพ Castbox กำลังเดิมพันอยู่ คือ

  1. การไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม: Castbox สามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์พกพา ทั้งผู้ใช้ Android ที่ไม่มี App Store และผู้ใช้ iOS ที่ไม่มี Play Store นอกจากนี้ Castbox ยังใช้งานได้ทั้งบนเว็บ มือถือ และแพลตฟอร์มเสียงอื่น ๆ เช่น Amazon Echo, Google Home, Android Auto และ iOS CarPlay
  2. Castbox เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่มีฟีเจอร์การค้นหาในเสียง (in-audio search): คอนเทนต์เสียงยังถือว่าเป็นกล่องดำไม่เหมือนกับข้อความ (Text) ซึ่งกูเกิ้ลเป็นเจ้าตลาด ด้วยความที่คอนเทนต์เสียงไม่สามารถอ่านได้ และผลการค้นหาก็แค่ค้นจากคำที่อยู่ใน Title และ Meta Description เท่านั้น ทำให้ Castbox พัฒนาฟีเจอร์ in-audio search ซึ่งปล่อยออกไปในเดือนตุลาคม 2017 โดยใช้วิธีถอดคำพูดจากไฟล์เสียงมาเป็นข้อความแล้วทำดัชนี (Index) เนื้อหาไว้สำหรับการค้นหาแบบนาทีต่อนาที 

ลองดูตัวอย่างด้านล่างสำหรับการค้นหาแบบ in-audio search โดยใช้คำค้นว่า “in app purchases” ในแอพ Castbox

อดีตพนักงาน Google ขายบ้านราคาครึ่งล้าน เพื่อสานฝันปั้นโคตรแพลตฟอร์มพอดแคสต์
ตัวอย่างการค้นหา in-audio search ในแอพ CastBox

คาดการณ์อนาคตของคอนเทนต์เสียง

ด้วยความก้าวหน้าของ NLP หรือการประมวลภาษาธรรมชาติ ทำให้เทคโนโลยีด้านเสียงก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ Renee คาดการณ์ไว้ คือ

  • ในรถยนต์ของคุณจะมี Alexa หรืออุปกรณ์เสียงจากบริษัทอื่น ๆ
  • ในปี 2020 เราจะบริโภคข้อมูลเพิ่มขึ้น 10 เท่าเทียบกับปี 2017
  • ในไม่ช้าเราจะคุยกับอินเทอร์เน็ตให้มากเท่ากับที่เราพิมพ์คุยกับมัน
  • การค้นหาข้อมูลในเสียง (in-audio search) จะกระทบการการสมัครสมาชิกพอดคาสต์ ถ้าพูดถึงเรื่องการค้นหาบางอย่างบนเว็บ เรามักเริ่มจาก Google แต่เมื่อเราต้องการค้นหาบางอยู่ที่อยู่ในคอนเทนต์เสียง เราจะเริ่มค้นหาจาก Castbox

ยังมีอีกหลายอย่างที่เราจะได้เห็นจากสตาร์ทอัพเสียงน้องใหม่รายนี้ แต่ Renee เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิง และมีความทะเยอทะยานที่สุดคนหนึ่ง แต่ความดื้อรั้นของ Renee อาจเป็นสิ่งจำเป็นกับการนำไปใช้กับกระแสของพอดคาสต์ที่แพร่หลายบนโลกดิจิทัลก็เป็นได้

3 เรื่องที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องราวของ Renee

  • อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองสัมผัสได้ถึงความสำเร็จ และรู้สึกภูมิใจในตัวคุณเอง? สำหรับ Renee คือ การเขียนโปรแกรม หาบางสิ่งที่คุณทำได้ดี และพยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ใช้มันเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น (เช่น เพื่อนที่ติดปัญหาโปรเจ็ค) และคุณอาจพบกับตัวคุณเองที่มีความสุขมากขึ้น
  • ความสนใจเท่ากับเงิน Renee รู้ว่าเธอค้นพบสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด (Product-Market Fit) เมื่อผู้ใช้ใช้เวลาประมาณครึ่งชม.ต่อวันในแอพของเธอ อะไรบ้างที่คุณสามารถทำให้ผู้ใช้ยอมใช้เวลามากขึ้นบนแพลตฟอร์มของคุณ (ใช้สินค้าหรือบริการของคุณ) และทำอย่างไรที่คุณจะสามารถเพิ่มคุณค่าที่มากขึ้นกับเวลาที่ผู้ใช้ใช้แอพของคุณอยู่?
  • การขายบ้านทำให้ฉันเจอตัวตนที่ดีกว่าเดิม นั่นคือความปลอดภัยของฉัน ความรู้ในอุตสาหกรรมมีค่าสำหรับฉันมากกว่าบ้านเพียงหนึ่งหลัง Renee เต็มใจที่จะพาตัวเองหลุดจากกรอบความคิดเดิม ๆ เพื่อกระตุ้นวิสัยทัศน์ของเธอ อะไรที่ฉุดรั้งคุณไว้จากการได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจของคุณ อาจถึงเวลาที่ต้องปฏิเสธบางอย่างที่ธรรมดา (เช่นบ้าน) เพื่อทำความฝันให้ของตัวเองให้เป็นจริง

Comments

comments