สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านนะครับ กลับมาอีกครั้งกับบทความเกี่ยวกับธุรกิจ Airbnb ธุรกิจให้เช่าที่พักออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตั้งเป้าจะเข้า IPO ให้ได้ภายในปี 2019 ด้วยความที่ธุรกิจหมายมั่นว่าจะเข้า IPO ให้ได้นี่แหละมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงขนาดสะเทือนจุดยืนแรกเริ่มเดิมทีของการก่อตั้ง Airbnb เลยทีเดียว

ประเด็นนั้น คือ เรื่องของการสร้าง Trust ระหว่างเจ้าของที่พักกับนักท่องเที่ยว ถ้าใครเคยอ่านประวัติการก่อตั้งธุรกิจ Airbnb ที่ผมเขียนในบทความ มาทำความรู้จัก Airbnb สตาร์ทอัพการแบ่งปันที่พักชื่อดัง คุณจะเข้าใจดีว่า Airbnb ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ และคำถามสำคัญที่พวกเขาต้องต่อสู้มาตลอดในช่วงแรกของการก่อตั้งธุรกิจ คือ “คุณบ้าหรือเปล่า ที่คุณเอาคนแปลกหน้าเข้ามาพักในบ้านของคุณ พวกเขาไม่ทำร้าย หรือปล้นบ้านคุณเหรอ”

ทีมผู้ก่อตั้ง Airbnb ได้ท้าทาย และพยายามเอาชนะอคติในเรื่อง Stranger = Danger นี้ได้สำเร็จ ซึ่ง Joe Gebia หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของ Airbnb กล่าวตอนที่เขาพูดใน TED Talk ว่าพวกเราเอาชนะอคตินี้ด้วยการออกแบบ โดยการออกแบบที่ว่า คือ การสร้างระบบโปรไฟล์ขึ้นมา เพื่อให้เจ้าของที่พักสามารถตรวจสอบโปรไฟล์ของแขก และรีวิวของพวกเขาจากโฮสต์ที่เคยไปพักมาก่อนหน้าได้ ทั้งหมดเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อให้จนนำไปสู่การปล่อยเช่าที่พักให้กับคนแปลกหน้าได้ในที่สุด

 

ย้อนไปราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ในขณะที่เสียงเตือนจากแอพ Airbnb ดังขึ้น ผมหยิบมือถือขึ้นมาดู พร้อมกับความประหลาดใจที่ว่า ทำไมคนที่สนใจจะจองที่พักของผมถึงไม่มีรูปโปรไฟล์ปรากฏในหน้าข้อความ มีเพียงตัวอักษรตัวแรกของชื่อเท่านั้นที่แสดงขึ้นมา พอกดไปที่ชื่อในหน้าแชท แอพจะแสดงหน้าโปรไฟล์ของแขก แต่ที่มันแปลก คือ ไม่มีรูป และคำบรรยายโปรไฟล์ของแขกคนนั้น เกิดอะไรขึ้นกับ Airbnb อีกล่ะ พวกเขาตั้งใจ หรือแอพมีปัญหาอะไรหรือเปล่า

ดังนั้นผมจึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และก็เห็นว่า Airbnb ตั้งใจให้เป็นแบบนี้จริง ๆ ในหน้าศูนย์ช่วยเหลือ หรือ Help ของ Airbnb ชี้แจงเรื่องนี้ชัดเจนมากเกี่ยวกับรูปโปรไฟล์ของว่าที่แขกซึ่งโฮสต์ Airbnb ไม่สามารถมองเห็นได้ จนกว่าการจองจะได้รับการยืนยัน หรืออาจเป็นเพราะ ผู้ใช้ที่สมัคร Airbnb เข้ามายังไม่ได้ทำการอัพโหลดรูปโปรไฟล์

credit:airbnb.com

คำถาม คือ ทำไมต้องจองเสร็จจึงจะเห็นรูปโปรไฟล์ของแขกได้ และผมก็เริ่มเอะใจว่าประเด็นที่เป็นปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับรูปโปรไฟล์ มันต้องมาถึงแน่ไม่ช้าก็เร็ว และมันก็เกิดขึ้นจริงในปี 2019 นี้ครับ ทำไมผมถึงเอะใจเรื่องรูปโปรไฟล์ได้ ประเด็นนี้ได้ถูกหยิบยกนำมาบอกเล่าในหนังสือ The Airbnb Story ของ Leigh Gallagher บทที่ 4 The Bad and the ugly หัวข้อ The Opposite of “Belonging” หรือแปลเป็นไทยว่า “ขั้วตรงข้ามของความสัมพันธ์ระหว่างกัน” หากใครไม่ได้อ่าน มันคือประเด็นเรื่อง การเหยียดเชื้อชาติ หรือเลือกปฏิบัติ (Racial discrimination)

การเหยียดเชื้อชาติ หรือเลือกปฏิบัติ ปัญหาเรื้อรังของ Airbnb

ถ้าให้พูดแบบสั้น ๆ คือ ประเด็นเรื่องของคนดำ หรือคนผิวสี กับการจองที่พักบน Airbnb พวกเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยการถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกการจอง มากกว่าคนผิวขาว มีหลายเคสที่คนผิวสีจองไปแล้วถูกปฏิเสธ แต่พอพวกเขาไปเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ หรือลองใช้ชื่อของคนผิวขาว แล้วกลับไปจองที่พักเดิมอีกครั้ง คราวนี้กลับได้รับการตอบรับการจองจากเจ้าของที่พักคนเดียวกันซะอย่างงั้น

ประเด็นเหยียดเชื้อชาตินี้ Airbnb เจอมาหลายปีแล้ว และมันก็มาประทุหนักในปี 2016 ยาวจนมาถึงปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่พวกเขาเล็งการนำธุรกิจเข้า IPO หรือ การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ดังนั้นปัญหาที่เรื้อรังมานาน หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลเสียต่อธุรกิจในอนาคตไม่ว่าจะเป็น เรื่องของรายได้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน คนที่จะซื้อหุ้น รวมถึง Community ของ Airbnb เอง ดังนั้นปีนี้ Airbnb น่าจะต้องทำอะไรสักอย่างในการแก้ไขปัญหา การไม่ให้เห็นรูปโปรไฟล์จนกว่าจะจองสำเร็จ น่าจะเป็น Solution แรกที่หยิบมาลองแก้ไขกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติอย่างจริงจัง

หากใครสนใจประเด็นนี้ลองไปหา The Airbnb Story ของ Leigh Gallagher มาอ่านได้ แต่ถ้าใครไม่ได้ซื้อมาก็ลองอ่านจากที่ผมแปล และเรียบเรียงแบบสั้น ๆ ได้ในบทความนี้ครับผม

ในปี 2011 Michel Luca ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะบริหารธุรกิจแห่ง Harvard Business School ได้ทำวิจัยเรื่อง การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) บนแพลตฟอร์ม Airbnb พวกเขาพบว่าคนที่ไม่ใช่ผิวสีจะสามารถชาร์จเงินค่าเช่าที่พักได้มากกว่าคนผิวสีประมาณ 12% สำหรับที่พักที่ตั้งในละแวกเดียวกัน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกคล้าย ๆ กัน นอกจากนี้คนผิวสียังโดนกดราคามากกว่าคนทีไม่ผิวสี ถ้าที่พักตั้งอยู่ใน Location ที่ไม่ค่อยดีนัก

งานวิจัยนี้ได้เรียกความสนใจของผู้คนเมื่อมันถูกตีพิมพ์ในปี 2014 แต่ Airbnb ก็ยังไม่ได้ใส่ใจมากนัก พร้อมบอกอีกว่างานวิจัยนี้มันตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และก็ทดลองแค่ 1 ใน 35,000 ที่มีที่พักของ Airbnb เท่านั้น การรวบรวมสิ่งที่พวกนักวิจัยค้นพบ เป็นการให้ความเห็นในมุมมองของตัวเอง (Subjective) หรือเป็นการตัดสินที่ไม่ถูกต้องแม่นยำนัก

สองปีต่อมา Luca และคณะ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นที่ 2 ออกมา ครั้งนี้พวกเขาเจาะจงไปที่ประเด็น “อัตราการตอบรับการจองของแขกคนดำเปรียบเทียบกับแขกที่เป็นคนขาว” ทีมของ Luca ทดสอบ โดยการสร้างโปรไฟล์มา 20 โปรไฟล์ พวกเขาตั้งชื่อ 10 โปรไฟล์แรกโดยใช้ชื่อ แอฟริกันอเมริกัน ส่วนอีก 10 โปรไฟล์ใช้ชื่อของคนขาว พวกเขาส่งคำร้องขอจองที่พักจำนวน 6,400 คำร้องไปยังโฮสต์ Airbnb ใน 5 เมือง

ผลการทดสอบ ไขข้อสงสัยของพวกเขาได้ว่า ผู้เข้าพักที่มีชื่อแอฟริกันอเมริกันมีความเป็นไปได้น้อยกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ที่จะได้รับการตอบรับคำขอจอง เมื่อเทียบกับแขกใช้ชื่อคนขาว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผล เช่น เชื้อชาติ หรือเพศของโฮสต์ ราคาของที่พัก และการแชร์ที่พักแบบห้องส่วนตัว หรือบ้านทั้งหลัง โดยรวมแล้วพวกเขาพบว่ามีการเลือกปฏิบัติอย่างแพร่หลายต่อแขกที่ใช้ชื่อแอฟริกัน – อเมริกันอย่างชัดเจน

ผู้คนดูจะตื่นตัวมากขึ้นเล็กน้อย กับประเด็นเหยียดเชื้อชาติใน Airbnb จนกระทั้งเดือนเมษายน ปี 2016 Quirtina Crittenden ที่ปรึกษาธุรกิจชาวแอฟริกันอเมริกันจากชิคาโก บรรยายประสบการณ์ของเธอเกี่ยวกับ Airbnb ผ่านทาง National Public Radio หรือ NPR

เธอเล่าว่าเธอถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการจองที่พักบน Airbnb จากการใช้ชื่อจริงในการจอง แต่เมื่อเธอเปลี่ยนชื่อเป็น Tina และปรับรูปของเธอเป็นแนวนอน การปฏิเสธก็หยุดลง เธอเริ่มใช้แฮชแท็กใน Twitter ว่า #AirbnbWhileBlack (Airbnb ในขณะที่เป็นคนดำ) ซึ่งได้รับความสนใจมากจากผู้คนบนโซเชียล เรื่องราวของ Crittenden เกิดกระแสไวรัลไปทั่ว และมีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันกับของเธอ Tweet เข้ามาโดยติดแฮชแท็ก #AirbnbWhileBlack

Quirtina Crittenden – credit:www.npr.org

2-3 สัปดาห์ต่อมา Gregory Selden ชาวแอฟริกันอเมริกันวัย 25 ปี ในวอชิงตัน ดี.ซี. ยื่นฟ้อง Airbnb จากเหตุการณ์ที่เขาถูกโฮสต์ Airbnb ในฟิลาเดลเฟียปฏิเสธการจองในครั้งแรก แต่กลับตอบรับการจองครั้งที่สอง เมื่อเขาได้ใช้โปรไฟล์ปลอมเป็นชายผิวขาว ในการฟ้องร้อง เขาได้เคลมเรื่องการละเมิดกฎหมายสิทธิพลเมือง และกล่าวว่า Airbnb ไม่มีการตอบสนองเกี่ยวกับคำร้องเรียนของเขาเลย

Gregory Selden – credit:gigionthat.com

อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา เมื่อผู้หญิงผิวดำคนหนึ่งได้จองที่พักใน Charlotte, North Carolina เธอได้รับการยืนยันคำขอจอง แต่หลังจากนั้นก็ถูกยกเลิก และโฮสต์ได้ส่งข้อความกลับมาหาเธอ ด้วยถ้อยคำที่ต่ำทรามแบบสุด ๆ และบอกผู้หญิงผิวดำอีกว่า “ฉันเกลียด xxx ดังนั้นฉันจึงยกเลิกแก และที่นี่คือ the South นะที่รัก หาที่อื่นที่ใช้ซุกหัว xxx ของแกซะ”

credit: cbsnews3.cbsistatic.com

ประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติรุนแรงเต็มขั้นจน Airbnb ต้องตอบสนองทันที โดยออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทตกใจ และทำให้สมาชิกในชุมชนมั่นใจว่าภาษาและพฤติกรรมนี้ละเมิดนโยบายและ “ทุกสิ่งที่เราเชื่อมั่น” วันถัดมา Brian Chesky ได้ Tweet ว่า “เหตุการณที่เกิดขึ้นใน North Carolina ทำให้วุ่นวาย และไม่สามารถยอมรับได้ การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติจะไม่มีบน Airbnb พวกเราจะทำการแบนโฮสต์คนนี้แบบถาวร”

2 อาทิตย์ให้หลังจากคำแถลงการของ Airbnb ก็ได้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ 2 ตัว นั่นคือ Noirbnb และ Innclusive ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบ่งปันที่พักแบบ Airbnb แต่เน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนผิวสี

Chesky และทีม Airbnb ต้องกลับมาทบทวนประเด็นนี้แบบจริงจังอีกครั้ง พวกเขาจ้างนักกฏหมาย และทนายมาปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ซึ่งบังคับให้ผู้ใช้ Airbnb ทุกคน ยอมรับนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ  พวกเขายังตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อทำการทดลองเรื่องการลดความเด่นของรูปผู้ใช้ และให้ความสำคัญกับรีวิวมากขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังพยายามเพิ่มจำนวนที่พักที่รองรับ Instant Book เพื่อให้การจองเกิดขึ้นทันที โดยเจ้าของที่พักไม่ต้องพิจารณาผู้เข้าพัก จาก 550,000 ที่พักเป็น 1,000,000 ที่พัก รวมถึงจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับข้อร้องเรียนในประเด็นนี้ด้วย

Chesky โพสต์ขอโทษเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “น่าเสียดายที่ พวกเราช้าในการเข้าไปแก้ปัญหานี้ และผมต้องขอโทษด้วย ผมขอรับผิดชอบต่อความเจ็บปวดหรือความยุ่งยากใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในชุมชนของเรา”

บรรดาผู้นำในชุมชนแอฟริกันอเมริกันต่างชื่นชมการเปลี่ยนแปลงของ Airbnb องค์กรอย่าง Congressional Black Caucus กล่าวว่า “มาตรฐานนี้สามารถนำไปเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อปรับใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้” แต่ก็ยังมีบางคนอย่าง Jamila Jefferson Jones รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี – แคนซัสซิตี้ ยังรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงของ Airbnb ในครั้งนี้ยังไม่ได้ผลมากนัก และแพลตฟอร์มควรลบรูปภาพออกทั้งหมดด้วย

เธอยังกล่าวอีกว่าประเด็นนี้ ทำให้เกิดคำถามที่ซีเรียส อย่างเส้นแบ่งทางด้านกฎหมายอยู่ตรงไหนระหว่างแพลตฟอร์ม และผู้ให้บริการ พูดง่าย ๆ คือมันยังไม่ได้ถูกทดสอบในชั้นศาล และแทนที่จะเป็นกฏหรือข้อบังคับที่ Airbnb ตั้งขึ้นมาเอง การออกกฎหมายใหม่น่าจะเป็นสิ่งจำเป็น เพราะตอนนี้ยังยากอยู่ที่จะพิสูจน์ประเด็นนี้ในชั้นศาล อย่างเคสของ Gregory Selden การที่เขายอมรับ ข้อตกลงในการให้บริการ (Terms of service) ของ Airbnb ทำให้เขาถูกริบสิทธิ์ในการฟ้องร้องบริษัท

Luca ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ Airbnb ต่อประเด็นเหยียดเชื้อชาตินี้ว่าเป็น “ปฏิกริยา” “ผมไม่คิดว่าใน Airbnb จะมีใครสนใจเรื่องการเลือกปฏิบัติ” ผมคิดว่าบริษัทเน้นไปที่การเติบโตมากเกินไป

ในทางกฎหมายประเด็นนี้ยังไม่ชัดเจน แน่นอนว่าโรงแรมจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิพลเมือง แต่ Airbnb เป็นแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ผู้ให้บริการที่พักสาธารณะ ซึ่งกฎหมายของรัฐบาลกลางไม่สามารถเอาผิดโฮสต์ได้ ทำให้เป็นภาระตกไปอยู่กับผู้คนที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ

กฎหมายสิทธิพลเมืองปี 1964 ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ที่ปล่อยเช่าที่พักน้อยกว่า 5 ห้องในบ้านของตัวเอง ดังนั้นภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลาง และกฎหมายท้องถิ่นอาจแตกต่างกัน นั่นทำให้โฮสต์สามารถปฏิเสธผู้เข้าพักได้ ไม่เพียงแค่ความเชื่อส่วนบุคคลที่แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชัง แต่ยังรวมถึงเหตุผลทุกอย่าง เช่น การปฏิเสธแขกที่ชอบสูบบุหรี่ กลุ่มคนที่กำลังมองหาที่จัดปาร์ตี้ฉลองงานรับปริญญา หรือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ในช่วงที่ทำวิจัย Luca เล่าให้ฟังว่าเขาเจอโฮสต์คนหนึ่งที่รับแต่คนจีนเท่านั้น เพราะคนจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และจ่ายหนัก ในขณะที่โฮสต์อีกคนให้เช่าแค่พวก Orientals (ชาวตะวันออกโดยเฉพาะจีนกับญี่ปุ่น) เท่านั้น เพราะแขกนิสัยดี ไม่เงียบดัง และไม่ก่อปัญหา

ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ Airbnb ก็น่าถูกตำหนิในเรืองการเลือกปฏิบัติ มันกลายเป็นวิกฤตหลักของบริษัท สิ่งที่ Airbnb ชูมาตลอด คือ เรื่องของมิตรภาพ และการต้อนรับคนแปลกหน้า ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ช่วยอะไรอีกต่อไปแล้ว อย่างสบู่ Dove เชื่อในเรื่องการมีสุขภาพดีแต่ขายสบู่ Lululemon เชื่อในเรื่องของชุมชนแต่ขายเสื้อผ้า Airbnb ขายเรื่องการต้อนรับ และการยอมรับ และได้สร้างแบรนด์รวมถึงพันธกิจภายใต้แนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน (Belonging) และขั้วตรงข้ามของมันคือ การเลือกปฏิบัติ นั่นเอง และมันกลายเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ขัดขวางภารกิจของ Airbnb

Chesky กล่าวในการให้สัมภาษณ์บนเวทีงาน Tech Conference ของ Fortune ในช่วงที่เกิดข้อพิพาทประเด็นนี้ขึ้นว่า “ภารกิจที่สำคัญที่สุดของเรา คือ การนำผู้คนมาอยู่ร่วมกัน การเลือกปฏิบัติเป็นอุปสรรคต่อภารกิจของเรา และถ้าเราแค่พยายามแก้ปัญหานี้ โดยไม่ได้จริงจังกับมัน เราก็ไม่อาจที่จะบรรลุภารกิจของเราได้”

สาเหตุของปัญหา คือ หนึ่งในองค์ประกอบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแกนหลักในชุมชนของ Airbnb นั่นคือ รูปภาพและโปรไฟล์ ดังที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชี้ให้เห็นว่า “ในขณะที่รูปภาพเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์บนแพลตฟอร์ม Airbnb แต่อีกมุมหนึ่งรูปภาพก็ได้นำชักนำความเลวร้ายที่สุดของมนุษย์ออกมาอย่างง่ายดาย” นักวิจัยยังแนะนำว่า สำหรับการเลือกปฏิบัติ มันเป็นผลที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ จากกลไกที่ Airbnb ใช้ในการสร้างความไว้ในเชื่อใจ (Trust)

บนเวทีที่งาน Fortune นั้น Chesky เอ่ยว่า สาเหตุที่ Airbnb ล่าช้าในการจัดการกับประเด็นนี้ เพราะพวกเขามุ่งเน้นที่การใช้รูปถ่าย และการยืนยันตัวตน เพื่อให้ผู้คนปลอดภัย ซึ่งพวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ ในการแสดงโปรไฟล์ส่วนบุคคลในที่สาธารณะ “พวกเราไม่ได้โฟกัสกับเรื่องนี้” Chesky กล่าว นอกจากนี้เขายังเสริมว่า ในตอนที่เขาและผู้ร่วมก่อตั้งเริ่มสร้างแพลตฟอร์ม พวกเขาไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ เพราะ “พวกเราทั้ง 3 คนเป็นคนขาว และมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราไม่ได้คิด ตอนที่พวกเราออกแบบแพลตฟอร์มนี้” Chesky กล่าว “และยังมีอีกหลายขั้นตอนเลยที่เราต้องหยิบมาประเมินใหม่อีกครั้ง”

สรุปประเด็นปัญหาเรื่องการเหยียดผิว หรือเลือกปฏิบัติ เป็นอุปสรรคหลักที่ขัดความภารกิจของ Airbnb ที่ต้องการให้ผู้คนบนโลกต้อนรับขับสู้ อาศัยอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข จากงานวิจัยของ Luca ที่ Airbnb ไม่แยแสตั้งแต่แรก ปัญหาดังกล่าวก็เริ่มมาประทุจริงจังในปี 2016 จนถึงปัจจุบันที่ Airbnb ก็ต้องการทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และแนวทางมันก็ชัดเจนขึ้นในปี 2019 นั่นคืิอการที่พวกเขาไม่ยอมให้โฮสต์สามารถเห็นรูปโปรไฟล์ของแขกได้ จนกว่าแขกจะจองที่พักสำเร็จ เพราะรูปโปรไฟล์มีส่วนอย่างมากที่คนขาวเมื่อเห็นคนดำจองเข้ามาแล้วเลืิอกที่จะปฏิเสธไม่ให้เข้าพัก แน่นอนว่าการปรับระบบของ Airbnb มันเลยกระทบไปทั่วโลก

แล้วถ้าหาก Airbnb ปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังต่อไปย่อมส่งผลในแง่ลบกับธุรกิจในระยะยาว ทั้งในเรื่องของรายได้ และชื่อเสียง เอาเป็นว่าบทความนี้เป็นข้อมูลเสริมที่ให้ทุกคนได้ไปขบคิดกันต่อว่า Airbnb จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรอีกต่อไปในอนาคต ตอนนี้ฝั่งนักท่องเที่ยวน่าจะถูกปฏิเสธการจองน้อยลง และมันส่งผลต่อกระแสรายได้ของ Airbnb ให้ดีขึ้นด้วย ส่วนฝั่งโฮสต์ที่ต้องยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น ในการที่เราไม่สามารถพิจารณ์ข้อมูลของแขกที่มาสอบถามเข้ามาได้ในส่วนของรูปโปรไฟล์ และคำบรรยายเกี่ยวกับตัวแขกเอง คุณผู้อ่านมีคิดเห็นอย่างไรก็คอมเม้นต์บอกกันได้ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าสวัสดีครับ

Comments

comments