บทสรุปวิถีการทำสตาร์ทอัพใน 7 วัน โดย Dan Norris (ตอนจบ)

ในบทความที่แล้ว “บทสรุปวิถีการทำสตาร์ทอัพใน 7 วัน โดย Dan Norris (ตอนแรก)” เราได้เห็นแนวทางการคัดเลือกไอเดียในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นภาระกิจในวันที่ 1 โดยการนำไอเดียไปตรวจสอบกับเช็คลิสต์ทั้ง 9 ข้อ เพื่อเฟ้นหาไอเดียที่ดีที่สุด และในตอนจบของ The 7 Day Startup เราจะมาสรุปแนวทางในวันที่ 2-7 กันครับ

วันที่ 2 – MVP (Minimal Viable Product)

ในหนังสือ The Lean Startup โดย Eric Ries คำที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด คือ MVP หรือ Minimum Viable Product ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหลายคนตีความว่าแทนที่จะใช้เวลา 6 เดือนเพื่อสร้าง Product หรือ Service พวกเขาพยายามทำ Product เหล่านั้นให้เพียงพอที่จะนำไปทดสอบได้

หลายคนจึงทำ Product ที่มีไม่กี่ฟีเจอร์ ซึ่งนั่นก็ยังไม่เพียงพอที่ลูกค้าจะยอมจ่ายเงิน บางคนเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย และใช้เวลากับการสร้างหน้า Landing Page เพื่อขาย Product แล้วตัดสินใจอีกทีจากยอดอีเมล์ที่ได้รับ และเมื่อตระหนักได้ว่าจะต้องใช้เวลานานมากในการทำ Product จริงขึ้นมา พวกคนเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน

สิ่งที่ Dan ต้องการสื่อ คือ คนมักไปเน้นที่ “Minimum” (น้อยที่สุด) และไม่ค่อยใส่ใจกับ “Viable” (ใช้การได้)

Informly MVP

ตอนที่ทำ Informly (Analytics Dashboard) Dan ต้องการจะทดสอบว่ามีคนยินดีจะจ่ายเงินให้กับบริการตัวนี้หรือไม่ ดังนั้นเขาจึงสร้างเวอร์ชั่นที่ใช้การได้ออกมาโดยมีเพียงไม่กี่ฟีเจอร์เท่านั้น

ผลที่ได้ คือ ล้มเหลว เพราะ Product มีฟีเจอร์น้อยกว่าคู่แข่งในตลาด ทำให้ไม่มีคนอยากใช้มัน เขาย้อนถามกลับว่า “หมายความว่านี่เป็นไอเดียที่แย่ หรือเป็นธุรกิจที่เจ๊ง” เราไม่มีทางบอกได้เลยว่า ถ้าเราทำ Product ที่มีฟีเจอร์ครบถ้วนแล้วมันจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

MVP ที่ดีของ Informly ควรจะเป็น

  1. แสดงหน้าจอตัว Analytics Report และเขียนอธิบายตัว Product ว่าใช้ทำอะไร
  2. ถ้ามีลูกค้าจ่ายเงิน ให้พวกเขาสามารถกระทำการบางอย่างได้ เช่น การคลิกโลโก้บริการบางตัวที่พวกเขาชื่นชอบได้
  3. บอกลูกค้าว่า Product จะพร้อมใช้ในไม่ช้า
  4. โทรไปพูดคุยกับลูกค้าว่าส่วนไหนกำลังใกล้จะเสร็จแล้วบ้าง ทำรายงานและส่งให้ลูกค้าดู

กิจกรรมเหล่านี้สามารถใช้เวลาเพียง 1 วัน เพื่อทดสอบสมมติฐานว่ามีคนต้องการบริการนี้หรือไม่ ซึ่งมันดีกว่าการทำ Product ที่มีไม่กี่ฟีเจอร์เท่านั้น เพราะลูกค้ามีความคาดหวังต่อสิ่งที่นำเสนอ และตัว Product ก็ต้องสามารถตอบสนองความคาดหวังนั้นได้เช่นกัน

ถ้าคุณได้ไอเดียทำธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะคิดว่า คุณต้องทำอะไรบ้างเพื่อสามารถปล่อยตัว Product เวอร์ชั่นสุดท้ายหรือใกล้เคียงที่สุดออกไปภายใน 1 อาทิตย์ ในมุมของลูกค้า พวกเขาไม่ได้สนใจการทำงานเบื้องหลังที่มันยังไม่เข้าที่เข้าทางหรอก กุญแจสำคัญ คือ ลืมเรื่องการทำงานแบบอัตโนมัติไปก่อน และพิจารณาว่างานไหนที่คุณสามารถทำด้วยตัวคุณเองได้ (Manual)

WPCurve MVP

Dan ไม่ต้องการผิดพลาดซ้ำสองกับ WPCurve เพราะเขาไม่มีทางเลือก และจะต้องทำมันให้เกิดภายใน 1 สัปดาห์ “ตอนนั้นผมไม่มีเวลาที่จะมองหาระบบซัพพอร์ต หรือสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาที่เหมาะกับการแก้ปัญหาจุกจิกให้กับผู้ใช้” Dan กล่าว

ผมอาจสร้างโมเดลสำหรับให้นักพัฒนาสามารถแก้ไขงานของลูกค้าได้ หรือปลั๊กอิน WordPress ที่รับแจ้งงานซ่อม ผมอาจจ้างนักพัฒนาทั่วโลก เพื่อให้ลูกค้าแน่ใจว่าสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ผมไม่จำเป็นต้องทำสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น เนื่องจากงานเหล่านี้ผมทำด้วยตัวเองก่อนทั้งหมด วิธีนี้ทำให้ผมสามารถให้บริการลูกค้าได้ทันที ซึ่งดีกว่าจะต้องมารอให้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ เรามาดูกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

  1. ผมเคยสมัครบริการซอฟต์แวร์ Live Chat ตอนที่ทำ Informly ดังนั้นผมจึงนำมันมาใส่ในเว็บเพื่อไว้ติดต่อรับงาน ไม่เฉพาะลูกค้าเท่านั้น แต่ใครก็สามารถเข้ามา Chat กับผมได้
  2. ผมมีนักพัฒนาแค่คนเดียว หมายความว่าจะต้องมีใครอีกคนคอยออนไลน์คุยกับลูกค้าตลอด 16 ชม.ในหนึ่งวัน ซึ่งก็คือตัวผมเอง ผมเจอแอพฟรีที่เชื่อมต่อกับ Olark (ซอฟต์แวร์ Live Chat) ได้ และผมเปิดมือถือออนไลน์ตลอดทั้งคืน ใครก็ตามที่เข้ามาคุยช่วงแรก ๆ จะเป็นคนปลุกผมให้ตื่นมาคุยด้วย ซึ่งพวกเขาไม่รู้เบื้องหลังหรอกนะ นี่เป็นปัญหาระยะสั้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมาก
  3. ตอนนั้นไม่มีเวลาสำหรับการมี Help Desk ผมใช้ Live Chat และซัพพอร์ตลูกค้าผ่าน Email ลูกค้าไม่สนใจว่าจะต้องมี Help Desk พวกเขาชอบการซัพพอร์ตทาง Email มากกว่า

นี่อาจดูเป็นการทำธุรกิจที่น่าเกลียดทุลักทุเลสำหรับเจ้าของธุรกิจ แต่ในฝั่งลูกค้า พวกเขาสามารถพูดคุยกับนักพัฒนาได้ตลอด 24 ชั่วโมง และคุณค่าของบริการนี้ก็ถูกพิสูจน์ได้ด้วยการที่ลูกค้ายอมจ่ายเงิน

สิ่งที่คุณต้องคิด คือ ไม่ต้องกังวลเรื่องการทำงานเบื้องหลังที่มันน่าเกลียด สิ่งสำคัญ คือ Product ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้หรือไม่ และทำอย่างไรที่คุณจะมอบประสบการณ์ในขั้น MVP แก่ลูกค้าให้ใกล้เคียงกับตัว Product จริงมากที่สุด ในหนังสือ Dan ได้ยกตัวอย่างธุรกิจในขั้น MVP ที่น่าสนใจมาหลายตัว เช่น AppSumo, Underground Cellar, Bare Metrics และ Tidy

Note: อย่าปล่อยเวอร์ชั่นใช้งานฟรี แต่ให้ชาร์จเงินตั้งแต่วันแรก

สรุปในวันที่สอง

  • ทำอย่างไรที่คุณสามารถแสดง Product หรือ Service แก่ลูกค้าจริงได้
  • ทำอย่างไรที่ลูกค้าจะยอมจ่ายเงินหลังจากผ่านไป 7 วัน
  • ใช้เวลานานแค่ไหนที่ MVP จะกลายเป็นตัว Product จริง
  • อะไรบ้างที่คุณสามารถทำด้วยตนเองได้ (น่าจะเกือบทุกอย่าง)
  • อะไรที่บ้างคุณสามารถทำได้ด้วยตัวคุณเองแทนที่จะมอบหมายให้คนอื่น
  • ทำอย่างไรที่คุณสามารถสร้างข้อเสนอที่เป็นจริงได้มากที่สุดแก่ลูกค้า

ขั้นตอนการลงมือทำ

  • เขียนสิ่งที่คุณจะปล่อยในวันที่ 7
  • ลูกค้าจะได้รับอะไรบ้าง
    • สิ่งที่ได้รับ
    • สิ่งที่ไม่ได้รับ
  • สิ่งไหนที่จะต้องทำเป็นอัตโนมัติ
  • สิ่งไหนที่จะต้องทำด้วยตนเอง (ภายในระยะเวลาสั้น ๆ)

วันที่ 3 – การตั้งชื่อธุรกิจ

Dan แนะนำว่าไม่ต้องคิดมากเกี่ยวกับการตั้งชื่อธุรกิจ หาชื่อที่ยอมรับได้ คิดมา 10 ชื่อ ไม่ต้องเอาชื่อที่ฟังดูแปลกประหลาด จากนั้นนำชื่อมาพิจารณากับเช็คลิสต์ต่อไปนี้

  1. ชื่อนี้มีคนใช้แล้วหรือยัง (ลองตรวจสอบทั้งชื่อธุรกิจ รวมถึงโดเมนเนม)
  2. ชื่อนี้เรียกง่ายหรือไม่ (มีผลต่อการค้นหา)
    • อย่าเล่นคำ
    • อย่าสะกดผิด
    • น้อยกว่า 12 ตัวอักษร
  3. ถ้าพูดดัง ๆ ชื่อนี้เรียกง่ายหรือไม่
    • Dan ยกตัวอย่าง Amazon ซึ่งแต่ก่อนชื่อว่า “Cadabra” ตอนที่ Jeff Bezos ไปคุยกับทนาย แล้วทนายพูดชื่อผิดว่าเป็น “Cadaver” Bezos สังเกตเห็นดังนั้นเลยคิดว่าคนอื่นก็ต้องพูดผิดเช่นกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Amazon ในที่สุด
  4. คุณชอบชื่อนี้หรือไม่
  5. ชื่อนี้สื่อถึงไอเดียที่คุณคิดหรือไม่ (หรืออาจไม่สื่อก็ได้)
  6. ควรตั้งชื่อกว้าง ๆ จะดีกว่า (ธุรกิจของคุณอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา)

ขั้นตอนการลงมือทำ

  • คิดชื่อธุรกิจมา 10 ชื่อ
  • เอาชื่อทั้ง 10 มาให้คะแนนกับเช็คลิสต์ทั้ง 6 ข้อ

วันที่ 4 – สร้างเว็บไซต์ (ภายใน 1 วัน โดยใช้ทุนน้อยกว่า 100 เหรียญ)

เมื่อคุณได้ไอเดียและชื่อของธุรกิจแล้ว ในวันที่ 4 จะเป็นการสร้างเว็บไซต์ (Landing Page) ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่ธุรกิจจะใช้ใน 1) การสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และ 2) เรียนรู้ผลตอบกลับจากลูกค้าจริง

มีหลายแนวทางเกี่ยวกับหน้า Landing Page ที่คุณสามารถนำมาใช้กับเว็บไซต์ที่สร้างในวันที่ 4 ดังนี้

  • Landing Page เพื่อจัดเก็บอีเมล์ของผู้ที่สนใจ ก่อนที่จะปล่อยในวันที่ 4
  • Landing Page ให้สั่งซื้อ Product ล่วงหน้าก่อนที่คุณจะปล่อยของจริงออกไป
  • Landing Page ที่ขาย Product จริง ซึ่งคุณจะใช้ในวันที่ 7

ในวันที่ 4 ผู้แต่งจะให้รายละเอียดวิธีการติดตั้งแบบ Step-by-step (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเล่ม) โดยสรุปดังนี้

  1. จดโดเมน
  2. เช่าโฮสต์
  3. ติดตั้ง WordPress
  4. เลือก Theme หรือ Landing Page

เทคนิคการตลาดเบื้องต้น

เนื้อหาการทำการตลาดจะอยู่ในวันที่ 5 ซึ่งเทคนิคเบื้องต้นต่อไปนี้สามารถทำได้ตั้งแต่วันที่ 4

  • ถ้าเป็น Landing Page จัดเก็บอีเมล์ ให้ลองแจกของฟรี เช่น อีบุ๊ค หรือเนื้อหาที่มีคุณค่าเพื่อแลกกับอีเมล์ของลูกค้า และจัดเก็บโดยใช้ MailChimp
  • ถ้าเป็นหน้าขาย Product ให้ติดตั้งปุ่มสั่งซื้อของ Paypal
  • ติด Google Analytics เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาในเว็บไซต์

เว็บไซต์ที่มีประโยชน์

ขั้นตอนการลงมือทำ

  • สร้างเว็บไซต์ของคุณขึ้นมา

วันที่ 5 – การตลาด

การตลาด คือ การนำ Product ของคุณเองไปวางไว้ตรงหน้าลูกค้าที่ถูกคัดกรองแล้ว นั่นหมายถึงการดึงคนเข้ามาที่หน้า Landing Page หรือ Sale Page ที่คุณสร้างขึ้นในวันที่ 4

วิธีที่ Dan ใช้ในการทำตลาด เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรู้จักกับ WPCurve คือ Content Marketing หรือการเขียนบล็อกสร้างเนื้อหาและบทความที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย ในระยะยาวนอกจากจะเป็นสินทรัพย์แล้ว เนื้อหาเหล่านี้ยังใช้แสดงถึงความเป็น Guru หรือ Domain Expert ของธุรกิจ และทำให้เกิด Trust ระหว่างว่าที่ลูกค้ากับธุรกิจ จนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อใช้บริการในที่สุด

ไอเดียการทำ Content Marketing

  • สร้างเนื้อหาแบบเจาะลึก เขียนถึงปัญหาที่ลูกค้ากำลังเผชิญ และวิธีแก้ปัญหาของคุณสามารถช่วยพวกเขาได้
  • สร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย และสามารถนำไปลงมือทำได้จริง
  • คุณต้องแน่ใจว่าเนื้อหาเหล่านี้ดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมายได้

ช่วงทำ Content Marketing อย่าลืม

  • เก็บรวบรวมอีเมล์ของลูกค้า
  • โฟกัสการสร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์ โดยยังไม่ต้องกังวลเรื่อง SEO มากนัก
  • ทดลองใช้สื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่เนื้อหา
    • บทความในบล็อก
    • อินโฟกราฟิก
    • วิดีโอ
    • พ็อดคาส
    • อีบุ๊ค
    • ไวท์เปเปอร์
    • ฯลฯ

สิ่งที่ท้าทายในวันที่ 5 คือ การสร้างเนื้อหาจำนวนมาก และยังต้องคิดถึงการเขียนบทความ หรือสัมภาษณ์เพื่อลงเป็นเนื้อหาในเว็บไซต์ของคนอื่น (เพื่อช่วยขยายการรับรู้ให้มากขึ้น)

การส่งมอบเนื้อหาแก่ว่าที่ลูกค้า

การส่งเนื้อหาผ่านอีเมล์

  1. เพิ่มรายชื่อคนที่คุณรู้จักมาก่อนอยู่แล้ว
  2. เตรียมหน้า Landing page ให้มีเนื้อหาน่าดึงดูดผู้ชมให้กลายเป็นผู้ซื้อ
  3. ส่งมอบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและมีคุณภาพสูงแก่รายชื่อดังกล่าว และอย่า Hard Sell ขายคนเหล่านั้นทันที
  4. มอบบางสิ่งที่เกี่ยวข้อง และมีคุณค่าแก่คนในลิสต์ เช่น
    • โปรแกรม
    • ปลั๊กอินส์
    • เท็มเพลตส์
    • อีบุ๊ค
    • คอร์สเรียน
    • ฯลฯ
  5. สร้างเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพ และอาจแจกของฟรี (WPCurve แจก Conversion Review Template)
  6. เก็บอีเมล์ทั้งหมดไว้กับตัว และพยายามกระตุ้นให้ผู้คนตอบกลับเพื่อใช้:
    • เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และได้รับ Feedback อย่างรวดเร็ว
    • สร้างความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดี ลูกค้าเต็มใจช่วย ถ้าคุณช่วยเหลือพวกเขาก่อน

วิธีการส่งมอบเนื้อหาอื่น ๆ 

  • พ็อดคาสต์
  • กระทู้ออนไลน์
    • เข้าร่วมกลุ่ม ทำตัวเป็นสมาชิกที่ Active เพื่อสร้าง Trust
    • พิจารณาเข้าร่วมกลุ่มที่เสียเงินที่ตรงกับ Niche ของคุณ
  • การเขียนบล็อกบนเว็บคนอื่น
    • พิจารณาการเขียนบล็อกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่คุณกำลังทำธุรกิจอยู่
    • เขียนเกี่ยวกับไอเดีย หรือตัวคุณเอง รวมถึงข้อมูลในอดีตที่เกี่ยวข้อง
  • ลงประกาศในเว็บรวมรายชื่อธุรกิจ
    • มีเว็บประเภทนี้หลายตัว ดูเพิ่มเติมในหนังสือหรือ Google
    • ในทุกอุตสาหกรรมจะมีเว็บไซต์ที่รวมรายชื่อธุรกิจ สามารถนำชื่อไปฝากได้
  • การสัมมนาออนไลน์ (Webinars)
    • Dan ยกตัวอย่างกลยุทธ์ของ John Dumas
      • สร้างกลุ่มผู้ชมขนาดใหญ่
      • แจกอีบุ๊คฟรีสำหรับมือใหม่ แลกกับอีเมล์ แล้วส่งเมล์ไปแจ้งเตือนว่าสามารถเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ได้ฟรี
      • การสัมมนาผ่านเว็บมีประโยชน์อย่างมากในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
      • สำหรับผู้เข้าร่วมที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม จะได้รับดีลพิเศษสำหรับการเป็นสมาชิกในกลุ่ม
  • การนำเสนอ
    • อีเว้นท์ในท้องถิ่น
  • ทำงานฟรี
    • ยื่นข้อเสนอทำงานให้ฟรี (Dan ยกเรื่องราวของ Derek Murphy ที่เคยรับออกแบบปกหนังสือให้ฟรี จนกระทั่งมีชื่อเสียง)
  • รายงานข่าวของสื่อ
    1. รวมรวมรายชื่อนักข่าวในสายที่เกี่ยวข้องเพื่อติดต่อ
    2. ดูว่านักข่าวคนไหนเคยรายงานผู้ประกอบการคนอื่นมาก่อน
    3. หาเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่ควรค่าแก่การทำข่าว (Dan ใช้เรื่องราวการทำธุรกิจที่ล้มเหลว 12 เดือน ก่อนมาสำเร็จคืนทุนกับ WPCurve ได้ภายใน 23 วัน)
    4. วางทุกอย่างลง เมื่อมีโอกาสได้ไปออกสื่อ
    5. เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง และต้องโปร่งใส
    6. ส่งบทความที่ดีที่สุดของคุณ ไปให้เว็บไซต์อื่นช่วยประชาสัมพันธ์

สรุปวันที่ 5

วันที่ 5 จะเน้นเรื่องการทำ Content Marketing หรือการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าแก่กลุ่มเป้าหมาย ในช่วงสิ้นวันคุณจะมีรายการเนื้อหาเหล่านี้ที่ต้องส่งไปยังกลุ่มคนที่เหมาะสมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยพิจารณาจากรูปแบบและแนวทางต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอไป รวมถึงพฤติกรรมการเสพข้อมูลของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายด้วย

ขั้นตอนการลงมือทำ

  • เตรียมลิสต์รายการวิธีทำการตลาดที่คุณเลือก นำมารวมกัน และวางแผนคร่าว ๆ สำหรับสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองที่คุณจะปล่อย Product

วันที่ 6 – ตั้งเป้าหมาย

จุดประสงค์ของการปล่อยธุรกิจออกไปอย่างรวดเร็ว คือ การที่คุณสามารถได้รับข้อมูลจริงจากลูกค้า ซึ่งช่วยในการตัดสินใจว่าธุรกิจตัวนี้มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้ธุรกิจกำลังไปได้ดี

Dan นำเสนอตัวชี้วัดง่าย ๆ นั่น คือ One Metric That Matters (OMTM) เพื่อใช้ประเมินธุรกิจในช่วง (Stage) ต่าง ๆ เช่น ในช่วงที่ปล่อยธุรกิจ คุณอาจโฟกัสที่จำนวนคนที่มาสมัครและจ่ายเงิน โดยตั้งเป้าที่สมเหตุสมผล พิจารณาจากแรงที่ใช้ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและการทำตลาด รวมถึงราคาของ Product

อย่าตั้งเป้าหมายที่โอเวอร์มากจนเกินไป เพราะคุณอาจผิดหวังได้ ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าไม่กี่คนในช่วงแรก โดยพิจารณาจากความเป็นจริง จากอัตราการเติบโตในแต่ละเดือน สำหรับ WPCurve นั้น Dan ตั้งเป้าว่าจะต้องได้ลูกค้า 10 คนในเดือนแรก ช่วยให้ธุรกิจมีรายได้ 500 เหรียญต่อเดือน และมีอัตราการเติบโตที่ 10% อย่างน้อยใน 6 เดือนแรก และโชคดีที่ WPCurve ไปได้ไกลกว่าเป้าที่ตั้งไว้

ตัวอย่างการประเมินธุรกิจในแต่ละช่วงด้วย OMTM

ช่วง ใช้อะไรวัดผล วิธีการวัดผล ตัวบอกความสำเร็จ
พิสูจน์ปัญหา/ไอเดีย ผู้คนต้องการ Product ตัวนี้หรือไม่ ถามลูกค้าว่าพวกเขาจะผิดหวังมากน้อยแค่ไหน ถ้าคุณเลิกให้บริการตัวนี้ ถ้าลูกค้า 40% บอกว่าผิดหวังหรือผิดหวังมาก นั่นคือคุณกำลังทำธุรกิจที่มีผลกระทบแล้ว
ปล่อย MVP มีคนมาสมัครใช้บริการกี่คน จำนวนคนที่มาสมัครใช้งานในช่วงสัปดาห์แรก หรือเดือนแรก จำนวนคนสมัครแล้วแต่คุณ Dan ต้องการเห็นลูกค้าอย่างน้อย 10 คนที่ซื้อบริการซ้ำทุกเดือนในช่วงเดือนแรก
พิสูจน์ Business Model % กำไร % กำไรที่ผู้ก่อตั้งจะได้รับจากการทำธุรกิจ
% กำไรที่คุณควรทำได้ หากคุณต้องการจ้างคนอื่นมาทำงานแทนผู้ก่อตั้ง
ในอุดมคติธุรกิจควรมี% กำไร ที่ช่วยให้ธุรกิจรันต่อและเติบโตได้ โดยปราศจากผู้ก่อตั้ง
% กำไรจะไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
สำหรับ WPCurve % กำไรตั้งไว้ที่ประมาณ 50%
เติบโต CPA และ LTV CPA คือ ต้นทุนที่ธุรกิจใช้ในการได้ลูกค้ามา
LTA คือ ตัวชี้วัดการบอกยกเลิกบริการ คิดจากจำนวนสมาชิกที่บอกยกเลิกในช่วงเวลาหนึ่ง หารด้วย จำนวนสมาชิกทั้งหมดในช่วงเริ่มต้นในช่วงเวลาหนึ่ง
ในอุดมคติค่า LTV ควรมากกว่า CPA ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าจะไปถึงขั้นนั้น

 

ขั้นตอนการลงมือทำ

  • สร้าง Spreadsheet ขึ้นมาเพื่อบันทึกการดำเนินธุรกิจในเดือนแรก เช่น จำนวนผู้สมัครใช้บริการ, รายได้, ต้นทุน และอัตราการเติบโตในแต่ละเดือน ดูตัวอย่างของ Dan ได้ที่นี่
    https://docs.google.com/spreadsheets/d/1iSEPtcc-qDZIcBGyGlKpK9Pp4N3rwOb7wCaaCrYO2sw/edit#gid=0

วันที่ 7 – ปล่อย

“If you are not embarrassed by the first version of your product, you’ve launched too late” Reid Hoffman (Founder of LinkedIn)

วันที่ 7 ก็สำคัญเท่ากับทุกวันใน The 7 Day Startup เพียงแต่วันนี้คุณจะได้เข้าสู่ช่วงการเก็บข้อมูลจากลูกค้าจริง และทำธุรกิจที่มีคนจ่ายเงินให้จริง

ลิสต์งานในวันที่ 7 มีดังนี้

  • ปล่อยเว็บไซต์ที่มีปุ่มชำระเงิน (Paypal) ออกไป คุณอาจมองหาซอฟต์แวร์ Live Chat มาติดในเว็บเพื่อให้ลูกค้าสามารถสอบถามได้อย่างรวดเร็ว
  • ส่งอีเมล์ไปหาคนที่คุณรู้จัก (ที่รวบรวมในวันที่ 4) เขียนขอบคุณที่สนใจบริการ และเอ่ยถามการสมัครใช้บริการ
  • โพสต์ลง Social Network รวมถึงกระทู้ออนไลน์ที่คุณเป็นสมาชิก
  • ถ้ากระทู้อนุญาตให้คุณสามารถแนบลิงค์ธุรกิจที่ Signature ได้ อย่าลืมแนบลิงค์ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงเว็บไซต์คุณได้
  • บอกเพื่อน ๆ และสื่อให้ช่วยแชร์ข่าว
  • ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยเหลือคุณตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงวันที่ปล่อย
  • ในช่วงที่ปล่อยออกไปวันแรก ก็ยังต้องเผยแพร่เนื้อหาในส่วน Content Marketing ต่อไป เพื่อให้คนรู้จักคุณมากขึ้นว่าคุณเชี่ยวชาญอะไร
  • โพสต์บทความเกี่ยวกับการปล่อยธุรกิจของคุณ ขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ และแนบลิงค์ที่ให้ว่าที่ลูกค้าสามารถเข้าไปสั่งซื้อได้
  • ถามเพื่อนที่เป็นผู้ประกอบการให้ช่วยแชร์ข่าวการเปิดตัว ถ้าคุณเคยช่วยเหลือคนเหล่านี้มาก่อน พวกเขาจะเต็มใจช่วยคุณ
  • ย้อนกลับมาที่แผนการตลาด เริ่มทำแต่ละรายการที่คุณลิสต์ไว้ (ในวันที่ 5) เช่นการทำพอสคาสต์สัมภาษณ์

ที่สำคัญไม่ต้องซีเรียสมาก วันปล่อยก็ยังบอกไม่ได้ว่าธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพียงแต่มันทำให้คุณได้ข้อมูลจากลูกค้าจริงมาเพื่อพิจารณาธุรกิจว่าจะเดินหน้าลุยต่อหรือไปทำตัวอื่น

Dan Andrews แห่ง Tropical MBA เคยพูดไว้ว่าเวลาที่ใช้ในการสร้างธุรกิจ คือ 1,000 วัน และวันปล่อยก็เป็นเพียง 1 ใน 1,000 วันเท่านั้นเอง

ขั้นตอนการลงมือทำ

  • ปล่อยธุรกิจของคุณออกไป และเริ่มทำตามแผนการตลาดที่คุณลิสต์ไว้

 

สรุป The 7 Day Startup

7 วันทำสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ โดย Dan Norris เป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำธุรกิจ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปพิสูจน์ไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างรวดเร็ว โดยการเปลี่ยนจาก Wantrepreneur (คนที่จมอยู่กับไอเดียไม่ยอมลงมือทำ) ให้กลายมาเป็น Entrepreneur อย่างแท้จริง

บทสรุปวิถีการทำสตาร์ทอัพใน 7 วัน โดย Dan Norris (ตอนจบ)

Photo Credit: Davi Pedro Bauer

ในการทำสตาร์ทอัพ 7 วันนั้น วันที่ 1 เป็นการค้นหาไอเดียธุรกิจที่ดีที่สุด โดยมีเช็คลิสต์ 9 ข้อเป็นตัวช่วยกลั่นกรอง วันที่ 2 เป็นการใช้แนวคิด MVP เพื่อมอบประสบการณ์การให้บริการแก่ลูกค้าได้ใกล้เคียงกลับ Product หรือ Service จริง เพราะลูกค้าไม่รู้การทำงานเบื้องหลัง (อันแสนน่าเกลียด) งานหลายงานต้องทำแบบ Manual เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทดสอบให้บริการกับลูกค้าได้ทันที แทนที่จะรอให้ทุกอย่างเป็นอัตโนมัติซึ่งนั่นอาจสายเกินไป และมีความเสี่ยงสูงที่ทำออกมาแล้วไม่มีคนต้องการใช้มัน

วันที่ 3 เป็นการตั้งชื่อธุรกิจ และวันที่ 4 เป็นการติดตั้งเว็บไซต์ เพื่อสร้าง Landing Page ในการเสนอขายสินค้าหรือบริการซึ่ง Dan ใช้ WordPress ที่หนักสุดจะเป็นวันที่ 5 คือการเตรียมแผนการตลาด เพื่อดึงให้ว่าที่ลูกค้าเข้ามาสมัครและซื้อบริการ Dan เน้นวิธีการทำ Content Marketing โดยสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิด Trust และสั่งซื้อในที่สุด

วันที่ 6 เป็นการตั้งเป้าการทำธุรกิจ โดยใช้ OMTM เพื่อประเมินธุรกิจในแต่ละช่วงต่าง ๆ และวันที่ 7 คือ วันปล่อยธุรกิจ ว่าธุรกิจพร้อมให้บริการแล้ว หลัก ๆ จะเกี่ยวกับการประกาศให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทราบผ่านสื่อ และช่องทางการตลาดต่าง ๆ ตามที่ได้วางแผนไว้

สุดท้าย The 7 Day Startup ไม่จำเป็นต้องเป็น 7 วัน อาจเป็น 2 สัปดาห์ หรือ 1-2 เดือนก็ได้ แต่ไม่ควรนานเกินไป คุณควรจะพิสูจน์ไอเดียธุรกิจให้เร็วที่สุด เพราะถ้าคุณยังไม่ปล่อย นั่นแสดงว่าคุณยังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยในธุรกิจที่คุณกำลังทำครับ

Comments

comments