Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน

ยินดีต้อนรับผู้อ่านทุกคนสู่ Startup Story นะครับ ผมเว้นจากการเขียนเรื่องราวของสตาร์ทอัพมานานมาก เพราะบทความในหมวด Startup Story ส่วนมากจะเป็นบทความยาวที่ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลหลายแหล่ง มาเพื่อแปลและเรียบเรียง ซึ่งปกติจะกินเวลาสัก 2-3 วัน

สตาร์ทอัพที่ผมหยิบมาเล่าในบทความนี้ คือ Lyft สตาร์ทอัพ Ride-sharing จากอเมริกาซึ่งหลายคนรู้จักในฐานะคู่แข่งของ Uber หลายคนอาจมองว่า Lyft คือธุรกิจ Me too หรือลอกเลียนแบบ Uber แต่หลังจากที่อ่านบทความนี้ คุณจะได้พบข้อเท็จจริงที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเรื่องราวการเริ่มต้นธุรกิจของ Lyft ซึ่งไอเดียเกิดก่อน Uber ด้วยซ้ำ มันเต็มไปด้วย Passion และ Vision ของผู้ก่อตั้งที่จะต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบขนส่งในประเทศที่ตนเองประสบ

เรื่องราวของ Lyft ผมต้องของอนุญาตแบ่งบทความออกเป็น 2 ตอน เพราะเนื้อหายาวมาก โดยตอนแรกคุณจะได้รู้จักกับ Zimride สตาร์ทอัพ Carpooling Service ก่อนที่จะกลายมาเป็น Lyft ซึ่งจะเป็นเนื้อหาในตอนที่สอง

ในเรื่องนี้เราจะเห็นปูมหลังของสองผู้ร่วมก่อตั้ง และพัฒนาการในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของคนทั้งคู่ครับ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ผมแนะนำให้คนที่เริ่มต้นทำสตาร์ทอัพอ่าน หากใครพร้อมแล้วมาติดตามกันครับ

เกริ่นนำจาก Zimride สู่ Lyft

ฤดูใบไม้ผลิปี 2012 John Zimmer และ Logan Green ได้ปล่อยบริการรถโดยสารร่วมกัน (Ride-sharing service) นาม Lyft ออกไป สองหนุ่มรู้ทันทีว่าพวกเขามีของดีอยู่ในมือ ซึ่งของแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในการทำธุรกิจ

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: stltoday.com

ก่อนหน้า Lyft เคยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการ Hack day ที่ทางบริษัท Zimride จัดขึ้น สองหนุ่มใช้เวลา 5 ปีสร้างบริษัทแห่งนี้ขึ้นมา ซึ่งให้บริการรถรับส่งร่วมกัน (Carpooling service) บริการนี้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้นศ.มหาวิทยาลัยสามารถแชร์ทริปการโดยสารเพื่อกลับบ้านในช่วงวันหยุดได้

ปัญหาที่ Zimride ประสบ คือ ยอดของผู้ใช้ที่เติบโตช้า แม้จะมีการทดสอบหลายครั้งเพื่อมุ่งให้ธุรกิจโต แต่ Zimride ก็ยังหาลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเหล่านั้นได้ยาก ดังนั้นทีมงานจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้ผู้ใช้สามารถจองทริปโดยสารในเวลาที่อยู่ข้างนอกได้

ทีม Zimride ตัดสินใจพัฒนาเว็บสำหรับมือถือขึ้น ด้วยความที่ธุรกิจมองว่ามันคือโอกาสที่จะทำให้บริษัทก้าวไปต่อได้ อย่างไรก็ตามการส่งมอบประสบการณ์ใช้งานเว็บสำหรับมือถือ ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานเดิมต่อผู้ใช้ของ Zimride ในการค้นหาและแชร์ทริปการโดยสาร

หลังจากทดลองหลายอย่าง ในที่สุดพวกเขาก็ได้ Product ตัวใหม่ที่ชื่อ Lyft ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้ธุรกิจกลับมามองจุดยืนของตัวเองเพื่อเปลี่ยน แต่มันยังเปลี่ยนแปลงวิถีการเดินทางของผู้คนร่วมกับคนแปลกหน้าอีกด้วย เหล่านี้คือสิ่งที่ John และ Logan หวังให้เกิดขึ้นมาตลอด

Logan Green กับปัญหารถติดใน L.A.

Logan Green เด็กหนุ่มผู้เติบโตในทางตอนใต้ของ California ประสบการณ์ที่เขาพบเจอ คือ มีรถจำนวนมากบนท้องถนน แต่ในรถแต่ละคันมีผู้โดยสารเพียงคนเดียวนั่นก็คือคนขับ แรงปรารถนาของเขา คือ การเปลี่ยนวิถีการเดินทางของผู้คนให้ดีขึ้น

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: techcrunch.com

Logan เล่าว่า “ใน L.A. มันเป็นเมืองแบบว่าคุณจำเป็นต้องมีรถเพื่อไปไหนมาไหน ส่วนตัวเลือกอื่นเลวร้ายมาก คุณรู้สึกแย่เนื่องจากคุณเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หนำซ้ำคุณยังต้องทรมาณกับปัญหานี้ด้วย”

เด็กหนุ่มเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย California ใน Santa Barbara ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของพ่อและแม่ใน L.A. เขาตัดสินใจว่าช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัย เขาจะเอารถทิ้งไว้ที่บ้าน และท้าทายตัวเองว่าจะเดินทางโดยการวิธีแชร์รถ และใช้ขนส่งมวลชน

ผ่านไปหลายปี Logan ลองทุกวิธีตั้งแต่ GreyhoundAmtrak และ Craigslist เพื่อติดรถกลับไปยัง L.A. เมืองที่ Eva Gonda แฟนสาว (และภรรยาในอนาคต) ของเขาซึ่งกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย แต่การเดินทางแต่ละครั้งของ Logan ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป บางทริปการเดินทางที่ขอแชร์บน Craigslist ก็พาเขาออกนอกลู่นอกทางบ้าง และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาติดอยู่บนรถไฟที่ชำรุด

อนาคตที่มืดมนจากปัญหาที่ไม่มีใครแก้

การเดินทางใน Santa Barbara ไม่เคยง่ายขึ้นเลย ดังนั้นเมื่อมีโอกาส Logan จึงเข้าร่วมกับโครงการเกี่ยวกับการขนส่ง 2 โครงการ โครงการแรกจัดในมหาวิทยาลัยที่เขาอยู่เพื่อสร้างบริการแชร์รถยนต์ ไอเดียคล้ายกับ Zipcar ซึ่งในตอนนั้น Zipcar มีให้บริการแค่ในฝั่ง East Coast

Logan ใช้เวลา 2 ปีทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยให้ทุนพัฒนาบริการนี้ โดยนักศึกษาสามารถสมัครสมาชิกออนไลน์ เพื่อทำการจอง และปลดล็อครถยนต์ที่ให้บริการด้วยการ์ด RFID และรหัสผ่าน

ส่วนโครงการที่สอง คือ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกรุ่นเยาว์ในบอร์ดของ Santa Barbara Metropolitan Transit District (MTD) ที่นั่นเขาเห็นสาเหตุว่าทำไมระบบขนส่งสาธารณะส่วนใหญ่ในประเทศถึงพัง เช่นเดียวกับหลายเมือง Santa Barbara กำลังสูญเงินไปกับการโปะต้นทุนที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีผู้โดยสารในรถบัสเดินทางแค่คนเดียว

ช่วงเกือบเข้าปีที่ 3 ที่ Logan เป็นสมาชิกบอร์ดนั้น มี 2 แนวคิดที่ถูกหยิบขึ้นมาแก้ปัญหานี้ คือ 1) มาตรการปรับขึ้นค่าโดยสาร และ 2) เสนอเก็บภาษีการขาย (Sales tax) เพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินอุดหนุนระบบขนส่งท้องถิ่น แต่ทั้งสองแนวคิดก็ล้มเหลวหลังจากไม่ผ่านประชามติของคนในท้องถิ่น

Logan กล่าวว่า “พวกผมตระหนักได้ว่า หากไม่มีประชามติที่มากพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบขนส่งสาธารณะก็ยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรืออาจจะแย่กว่านี้ในอีก 50 ปีข้างหน้า มันน่าผิดหวังเสมอ ที่รู้สึกว่าเรามองเห็นอนาคตที่แย่ลง หรืออย่างน้อยก็ไม่เกิดอะไรที่ดีขึ้นเลยสักอย่าง”

ความหวังที่ Zimbabwe

ถ้า Santa Barbara MTD คือ ที่ที่ Logan ได้เหตุผลในการตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของระบบขนส่ง Zimbabwe ก็ คือ ที่ที่ให้ความหวังแก่เด็กหนุ่มในการแก้ปัญหานี้

หลังเรียนจบ Logan ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในแอฟริกากับเพื่อนนาม Matt Van Horn ที่ Zimbabwe เขาพบว่าผู้คนต่างใช้รถยนต์ร่วมกันเป็นเรื่องปกติ และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียด้วย

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: daretosharezimbabwe.org

“ที่นั่นถนนหลายแห่งเงียบมากเพราะไม่มีรถวิ่ง ส่วนรัฐบาลก็มัวแต่วุ่นกับการทำให้ประเทศด้อยลงมากกว่าที่จะมาสนใจเรื่องบริการขนส่งสาธารณะ” Logan กล่าว ดังนั้นคุณจึงเห็นผู้คนนั่งอัดกันอยู่ในรถมินิแวน เพื่อแชร์การเดินทางไปไหนมาไหนเป็นเรื่องปกติ

“สิ่งนี้คือระบบเครือข่ายรถสาธารณะที่มาจากมวลชน ใครก็สามารถเป็นคนขับได้ หนำซ้ำยังสามารถกำหนดเส้นทางเดินรถของตัวเองได้อีก” นี่คือสิ่งที่ Logan ประทับใจใน Zimbabwe ประเทศที่แทบจะไม่มีทรัพยากรใด ๆ แต่กลับมีระบบเครือข่ายขนส่งที่ดีกว่าเมืองที่มั่งคั่งอย่าง Santa Barbara เมื่อกลับจากท่องเที่ยว Logan ขบคิดถึงการนำแนวคิดจาก Zimbabwe มาปรับใช้

Zimride ถือกำเนิด

ฤดูใบไม้ร่วงปี 2006 Facebook ทำการปล่อย API เวอร์ชั่นแรกให้นักพัฒนาอิสระสามารถสร้างแอพผูกกับ เครื่องมือยืนยันตัวตนของ Facebook ได้

Logan ได้ลอง API ตัวนี้และสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับผู้ที่ต้องการค้นหา และสร้างรถยนต์โดยสารร่วมให้คนอื่นมาแชร์ทริปได้ แรงบันดาลใจจาก Zimbabwe ทำให้ Logan ตั้งชื่อแพลตฟอร์มตัวนี้ว่า “Zimride”

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: zimride.files.wordpress.com

การที่ Zimride เชื่อมกับ API ของ Facebook ทำให้แพลตฟอร์มยกระดับการยืนยันตัวตน และความไว้วางใจที่จะใช้รถยนต์ร่วมโดยสารกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่มีในแพลตฟอร์มไหนมาก่อน มันต่างจาก Craigslist และเว็บบอร์ดทั่วไปตรงที่ผู้ใช้ Zimride สามารถเห็นหน้าค่าตาและชื่อของคนที่จะร่วมแชร์รถโดยสารได้

Van Horn เข้ามาร่วมทีมกับ Logan ในเดือนธันวาคม ปี 2006 ทั้งสองทำงานคนละทีร่วมกับนักพัฒนา part-time อีก 2 คน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มตัวนี้ขึ้นมา จำนวนผู้ใช้ Facebook ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพวกเด็กมหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยให้ Zimride ได้ Traction ในช่วงแรก นศ.หลายคนเริ่มใช้บริการนี้ เพื่อแชร์ทริปการเดินทางจากบ้านไปมหาวิทยาลัย

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: acs.ncsu.edu

เมษายน ปี 2007 Zimride ได้ออกสื่อเป็นครั้งแรกใน Mashable และเดือนต่อมาได้กลายเป็น 1 ใน 100 พาร์ทเนอร์ที่ใช้แพลตฟอร์มตัวใหม่ของ Facebook ซึ่งเปิดตัวในงาน F8 Developer Conference และไม่นาน Zimride ก็อยู่ในความสนใจของ John Zimmer ชายซึ่งมีบทบาทสำคัญภายหลังร่วมกับ Logan ในการผลักดันแพลตฟอร์มการใช้รถโดยสารร่วม ที่มีทั้งความน่าเชื่อถือและความเป็นคอมมูนิตี้อยู่ในตัว

John Zimmer ผู้ร่วมก่อตั้ง Zimride และ Lyft (ในอนาคต)

John Zimmer เด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัย Cornell ผู้เคยลงเรียนวิชาว่าด้วยเรื่อง “Creating Green Cities and Sustainable Futures” หรือ การสร้างเมืองเขียวและอนาคตที่ยั่งยืน สอนโดย Professor Robert Young ในการสอน Young ได้พาเหล่านักศึกษาชมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในหลายศตวรรษ และท้าทายให้นักศึกษาลองจินตนาการถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จำเป็นเพื่อทำให้เมืองอยู่ได้อย่างยั่งยืน

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: i.amz.mshcdn.com

มีอยู่เซสชั่นหนึ่งที่โฟกัสเรื่องของการขนส่ง และแสดงให้เห็นภาพวิธีที่มนุษย์ใช้ในการโดยสารครั้นอดีต ตั้งแต่คลอง รางรถไฟ ไปจนถึงถนนไฮเวย์ ในแต่ละตัวอย่าง เส้นทางเหล่านั้นแพร่กระจายออกไปคล้า่ยกับเส้นเลือดที่ผูกมัดเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

John เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพไม่ใช่ปัญหา ในฐานะนักศึกษาการโรงแรม ตัวชี้วัดสำคัญที่เขาสนใจคืออัตราการครองที่นั่ง (occupancy rate) ของยานพาหนะบนท้องถนน ซึ่ง 3 ใน 4 ของที่นั่งไม่ได้ใช้ และเขาเชื่อว่ากุญแจที่จะช่วยไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพนี้คือ การสร้างบางสิ่งบางอย่างบนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศหรือไอที

John รู้จัก Zimride จากการที่เพื่อนใน Facebook แชร์ลิงค์ให้ดู ซึ่งมันคล้ายกับไอเดียด้านการขนส่งที่เขาเคยคิดไว้ และชื่อ Zimride ก็มีสามตัวอักษรแรกในนามสกุลของเขาทำให้เขาสนใจ Zimride ส่วนทาง Logan และ John ทั้งคู่ได้รับการแนะนำจากเพื่อนร่วม (Mutual Friend) ใน Facebook ให้รู้จักกัน และภายใน 1 อาทิตย์ Logan ก็ตัดสินใจบินไป New York เพื่อพูดคุยกับ John ทั้งคู่ตัดสินใจร่วมลงเรือลำเดียวกันในการทำ Zimride ให้เป็นจริง

น่าสนใจตรงที่บุคลิกของคนทั้งคู่นั้นขัดแย้งกัน Logan เป็นคนเงียบขรึม ส่วน John เป็นพวกช่างพูด ในขณะที่ Logan ชอบบันทึกความเห็นของเขาเมื่อมันเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ส่วนจอห์นเป็นคนประเภท เขาชอบพูดคุยถึงปัญหาเพื่อพยายามหาทางแก้

นักลงทุนคนแรก

ทั้งคู่ทำงานเข้ากันได้อย่างยอดเยี่ยม Logan รับผิดชอบในส่วนของผลิตภัณฑ์และวิศวกรรม ส่วน John ดูแลเรื่องการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ทั้งสองมีความรู้พอ ๆ กันในสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจและปกติจะเห็นชอบร่วมกันในวิธีการที่ทำให้ก้าวไปข้างหน้า

ในช่วงเวลานั้นทั้งคู่ยังไม่ได้ทำ Zimride เต็มเวลา ในช่วงปี 2007 และต้นปี 2008 Zimride ยังคงเป็น Side Project อยู่ หลังจบจาก UC Santa Barbara (UCSB) Logan ทำงานกับ The Green Initiative Fund (TGIF) ในมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ส่วน John ทำงานเป็นนักวิเคราะห์การเงินให้กับ Lehman Brothers เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจอสังหาฯ

แม้ไม่ได้ทำเต็มเวลา ทั้งคู่ก็ช่วยกันคิด Business Model ให้กับ Zimride ผู้ใช้แพลตฟอร์มในช่วงแรกคือเด็กนศ. โดยพวกเขาปล่อย Zimride ที่มหาวิทยาลัย Cornell และ 6 เดือนต่อมาก็ปล่อยทั้ง Cornell กับ UCSB

การได้ลงสื่อใหญ่อย่าง Mashable ทำให้ Zimride เข้าตานายทุนอย่าง Sean Aggarwal อดีตรองประธานฝ่ายการเงินที่ eBay และเป็น Angel ที่กำลังมองหาธุรกิจที่ตนเองสนใจอย่าง Carpooling service

Aggarwal ติดต่อหา Logan ด้วยความที่ไม่เคยได้รับเงินทุนมาก่อนทำให้ Logan รู้สึกกลัว แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจนัดเจอกับ Aggarwal และความกลัวก็มลายหายสิ้น ทั้งสองคุยถูกคอกัน และ Aggarwal ได้กลายมาเป็น Angel คนแรกให้กับ Zimride บทบาทของ Aggarwal คือ ทำงานกับ Logan 5-10 ชัวโมงต่อสัปดาห์ และต่อมาเขาได้กลายเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคนสนิทของ Logan

Aggarwal เล่าย้อนให้ฟังว่า “ผมคิดว่า Logan แทบไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนให้เงินเขาสำหรับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ จำนวนเงินก็พอประมาณนะ ผมคิดว่าจำนวนเงินเป็นเรื่องเล็ก เรื่องที่ใหญ่กว่าคือการพิสูจน์ มันเป็นความจริงที่ว่าคนอื่นที่ไม่ใช่เขาเชื่อในสิ่งที่เขาทำ

Guerilla marketing

หลังจากได้รับเงินลงทุนจาก Aggarwal ทั้งสองไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร สิ่งแรกที่พวกเขานำเงินไปซื้อคือชุดคอสตูมกบกับบีเวอร์ ซึ่งมันเป็น “ค่าใช้จ่ายการตลาด” ทั้งคู่สวมและเดินไปในมหาวิทยาลัยเพื่อ Promote บริการของ Zimride

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: tctechcrunch2011.files.wordpress.com

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ John ซึ่งยังคงทำงานอยู่ที่ Lehman ถูกขอให้ไปช่วยคัดสรรคนจากมหาวิทยาลัย Cornell ในช่วงสุดสัปดาห์ John ไปถึงมหาวิทยาลัยก่อนหน้าหลายวัน และสวมชุดคอสตูมเพื่อเรียกความสนใจให้คนมาใช้บริการ Zimride

ชุดคอสตูมได้ผล มีนศ.สมัครเพิ่มขึ้น แต่หลังจากเหตุการณ์การคัดสรรคนให้กับ Lehman มีเด็กนศ.คนหนึ่งจำ John ได้และเดินเข้ามาถามเขาว่า “ใช่คุณมั้ยที่ผมเห็นสวมชุดบีเวอร์เมื่อไม่กี่วันก่อน” ที่ซวยก็คือคนที่ยืนข้าง ๆ John ตอนถูกถามดันเป็นเจ้านายของเขาเอง

นี่ทำให้ John มีเหตุผลที่จะลาออกจาก Lehman มาทำ Zimride แบบเต็มเวลาร่วมกับ Logan ในฤดูร้อนปี 2008 พวกเขาได้รับเงินทุนเพิ่มอีก 250,000 เหรียญจาก Facebook ในฐานะที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Facebook API ช่วงแรก

หลังได้เงินทุนเพิ่ม John ก็พร้อมเดินทางข้ามประเทศ หลายคนคาใจ โดยเฉพาะเพื่อนของแม่ที่ถามว่า “คุณปล่อยสิ่งที่มันมั่นคงอย่าง Lehman เพื่อไปทำสตาร์ทอัพรถร่วมโดยสารบ้า ๆ นั่นได้อย่างไร?” ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2008 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกขึ้น และต่อมาไม่นาน Lehman ก็ล้มละลาย

John ได้ย้ายมาที่ Palo Alto เขาอาศัยช่วงที่เดินทางมาทำการตลาดให้กับ Zimride ซึ่งในตอนนั้นมีไม่กี่คนที่รู้จัก แทนที่จะนั่งเครื่องบินหรือเรือมายัง West Coast, John และได้แชร์ทริปการเดินทางร่วมกับคนแปลกหน้า 3 คน เดินทางจาก New York ไปยัง Bay Area ผ่าน Zimride ทริปดังกล่าวออกข่าว ABC World News

สวัสดี Palo Alto

นอกจากสรรหาชุดคอสตูมราคาถูกมาทำการตลาดแล้ว สองผู้ก่อตั้งยังใช้เงินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ออฟฟิศแรกของพวกเขากว้างพอทำงานได้เพียง 4 คน ตั้งห่างจากมหาวิทยาลัย Avenue ใน Palo Alto เพียงไม่กี่บล็อค แต่ภายหลังก็ต้องย้ายออกมาเนื่องจากตึกนั้นไม่ยอมทำตามบทบัญญัติอาคารให้รองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว

John ในวัย 24 ปี เล่าว่า มันไม่ง่ายเลยที่จะเป็นผู้ประกอบการแบบเต็มเวลา “พวกเราไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ และรู้สึกว่ามันบ้ามากในเวลานั้น ผมยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

ออฟฟิศหลังที่สอง พวกเขาเรียกมันว่า “Apartfice” John และ Logan เช่าออฟฟิศหลังนี้เพื่อใช้เป็นที่ทำงาน มันมีห้องนั่งเล่นขนาดกว้าง พร้อมกับโต๊ะ 6 ตัว และ 2 ห้องนอน ห้องหนึ่ง Logan ใช้นอน ส่วนอีกห้องมีเก้าอี้นอน และถูกใช้เป็นห้องประชุมเป็นครั้งคราว หรือเป็นที่นอนสำหรับใครก็ตามที่เขามาเยี่ยมหรือทำงานเลิกดึก

John อาศัยเก้าอี้นอนตัวนั้นอยู่ 6 เดือน ก่อนที่จะจะย้ายไปยังบ้านพ่อแม่ของเพื่อนเพื่อประหยัดค่ากินอยู่ แต่ Logan ปักหลักอยู่ที่ Apartfice จนกว่า Zimride จะโตและมีเงินพอย้ายไปยังออฟฟิศที่เหมาะกว่า

Airbnb of transportation

ปี 2010 Ann Miura-Ko จากบริษัทร่วมลงทุน Floodgate กำลังมองหาธุรกิจ “Airbnb of transportation” เธอพลาดการลงทุน Airbnb ในรอบ Seed Round และกำลังหาธุรกิจอื่นที่มี Model คล้าย ๆ กัน

Miura-Ko และบริษัทได้ลงทุนธุรกิจ Marketplace ไปสองเจ้า แต่พวกเธอเห็นว่าอุตสาหกรรมขนส่งยังมีโอกาสอยู่อีกมาก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มี Uber, RelayRides และ Getaround ในตอนนั้นมี Zipcar เจ้าเดียวที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิถีการเดินทางของผู้คนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง

สิ่งที่หญิงสาวต้องการล่าจริง ๆ คือ “Thunder Lizards” (ได้แรงบัลดาลใจจากหนัง Gozilla) ธุรกิจที่มี DNA ผิดแปลกและสามารถผลิกโฉมอุตสาหกรรมได้

ถ้ามองจากมุมคนภายนอก ธุรกิจของ John กับ Logan ไม่ได้เข้าข่ายที่จะบดขยี้หรือสร้างความเสียหายกับอาคารได้เลย แต่ Miura-Ko ทึ่งในวิสัยทัศน์ของผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของระบบขนส่งมวลชน เธอเห็นคำมั่นสัญญาในตัวพวกเขาในขณะที่คนอื่นไม่แน่ใจ

แต่สุดท้ายเรื่องราวการก่อตั้งธุรกิจของ Logan ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของรถยนต์โดยสารร่วม ซึ่ง Miura-Ko เองก็เคยไปที่ Zimbabwe เหมือนกัน เห็นดังนี้ Miura-Ko จึงตัดสินใจลงทุน Seed Round ให้กับ Zimride ร่วมกับ Manu Kumar จาก K9 Ventures ซึ่งเคยพบ John และ Logan ประมาณ 1 เดือนหลังจากที่ทั้งคู่ย้ายมาที่ Palo Alto

เมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว และไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป

Zimride ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 และธุรกิจแตะจุดคุ้มทุน อีกทั้งทีมงานยังได้ทำสัญญากับมหาวิทยาลัยอีกเป็นโหลเพื่อซื้อใบอนุญาต (License) ให้สามารถเข้าถึง Ride board ของ Zimride ได้ นอกจากนี้พวกเขายังไปดีลกับบริษัทอีกหลายแห่งเพื่อให้แพลตฟอร์มรองรับการแชร์ทริประหว่างพนักงานบริษัท

Lyft จาก Zimride ถนนเส้นยาวสู่ความสำเร็จชั่วข้ามคืน
Credit: zimride.files.wordpress.com

ธุรกิจเริ่มอยู่ตัวและคาดเดาได้ แถมมีการสร้างรายได้และการเติบโตที่ต่อเนื่อง แต่ John กับ Logan มีความทะเยอทะยานที่สูงกว่านั้น ขณะที่การได้ลูกค้าบริษัทสร้างผลกำไรอย่างงาม แต่ธุรกิจกลับไม่ได้น่าตื่นเต้นอีกต่อไป เป้าหมายหลักของ 2 หนุ่ม คือ การเพิ่มอัตราการครองที่นั่งบนรถทุกคันที่อยู่บนถนน นั่นทำให้พวกเขาตัดสินใจเปิด Zimride ให้กับผู้คนทั่วไป

Zimride ได้เงินลงทุนเพิ่มจำนวน 6 ล้านเหรียญรอบ Series A จาก Raj Kapoor แห่ง Mayfield Fund ในตอนนี้ธุรกิจพร้อมที่จะลุยหน้าต่อในตลาดผู้บริโภคทั่วไป พวกเขาปรับเปลี่ยนเว็บไซต์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ตลาดกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปก็ไม่ได้เติบโตเร็วดังที่พวกเขาหวังไว้

“พวกผมหวังว่าผู้คนจะกลับเข้ามาใช้ซ้ำ แต่ด้วยรูปแบบทริปที่เรามีผู้คนมักใช้เพียงหนึ่งหรือสองครั้งต่อปีเท่านั้นเอง” John กล่าว “ในตอนนั้นพวกเรารู้ว่ามีตัวแปรที่เกี่ยวข้องอะไรบ้างมากมาย แต่ผมคิดว่าพวกเราไม่ได้ให้น้ำหนักกับความสำคัญของความถี่มากพอ”

ผ่านไป 6 เดือน ทีม Zimride ทดลองทุกความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผู้ใช้สมัครและกลับมาใช้ซ้ำให้ถี่ขึ้น พวกเขาโปรโมทเส้นทางยอดนิยมอย่างการไป San Francisco และ Los Angeles ในบางครั้ง John หรือ Logan จะขับรถมินิบัสเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยวบริเวณนั้น นอกจากนี้ Zimride ยังออกเว็บไซต์เวอร์ชั่นสำหรับมือถืออีกด้วย

โร้ดแมพตัวถัดไป คือ แอพมือถือ แต่บรรดาวิศวกรต่างรู้สึกไม่มั่นใจว่าถ้าสร้างมาแล้วจะมีคนใช้สักกี่คนกัน พวกเขามีเหตุผลที่จะคิดแบบนั้น เพราะจากการทดลองในอดีตทุกคนทำงานกันอย่างหนัก แต่ไม่มีสักคนที่สามารถสร้างแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจมีรายได้มากขึ้นได้่เลย รวมถึงไม่มีใครเลยที่อยากโน้มน้าวให้ผู้ใช้กลับมาใช้ Zimride ซ้ำ

John และ Logan รู้แล้วว่านี่คือสัญญาณอันตราย ทีมพวกเขาไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับการสร้างแอพมือถือ ดังนั้นพวกเขาจึงทำสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับงานวิศกรรม นั่นคือ “วางมือจากงานที่อยู่”


เรื่องราวของ Lyft ตอนแรก ผมขอจบไว้ตอนที่ Zimride เริ่มเกิดวิกฤตในการทำแอพขึ้น ในตอนหน้า่เนื้อหาจะเกี่ยวกับ Lyft โดยตรง

เนื้อหาการก่อตั้ง Zimride ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่แพ้ Lyft เพราะแสดงให้เราเห็นถึง Passion และ Vision ของผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งในประเทศให้ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังเห็นถึงการเริ่มต้นธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งยอมลงทุนทำการตลาดเองเพื่อให้ Zimride โตมากขึ้น

สำหรับใครที่รอตอนจบ สามารถติดตามได้ที่ Fanpage START IT UP เร็ว ๆ นี้ครับ

Comments

comments