ทำไมผมจึงเลือก Omise มาใช้เป็น Payment Gateway
Photo credit: Omise

หลังจากที่ผมทดลองใช้ API ของ Omise จนมั่นใจว่าสามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้แล้ว ผมก็ลองนำไปใช้งานจริงทันทีเพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมสงสัย ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจจนต้องเขียนแชร์ให้ได้อ่านกันครับ

การสมัครใช้งาน Omise

ในการสมัครเพื่อใช้งานจริงจะมีให้เลือกแบบนิติบุคคล และบุคคลทั่วไป ซึ่งผมสมัครในแบบบุคคลทั่วไปทาง Omise จะมีให้กรอกเกี่ยวกับธุรกิจของเราชื่อธุรกิจ ประเภทธุรกิจ เว็บไซต์ หมายเลขบัญชีธนาคาร รูปแบบการทำรายได้ นโยบายการคืนเงิน และให้แนบเอกสารยืนยันผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นสำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัญชีธนาคารที่จะใช้ผูกกับระบบ Omise ตอนถอนเงิน

ถ้าจำไม่ผิดผมรอประมาณ 2-3 วัน ทาง Omise โทรมา Confirm ข้อมูลการสมัคร และส่งอีเมล์การทำสัญญามาให้ โดยเป็นแบบฟอร์มดิจิทัลกรอกผ่านเว็บ ให้เราเซ็นชื่อเพื่อยอมรับเงื่อนไขตามสัญญาครับ หลังจากเสร็จขั้นตอนนี้จะมีอีเมล์ส่งมายืนยันอีกทีให้สามารถเข้าใช้งานส่วน Live Dashboard ได้แล้วครับ

การนำไปใช้งานจริง

1. อย่าลืมเปลี่ยน Public Key และ Secret Key

การใช้งานจริงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากครับ คือ การนำ Public Key และ Secret Key ของจริง (จาก Live Dashboard) ไปแทนที่ Key ทั้งสองที่เราใช้ทดสอบอยู่ก็เป็นอันเสร็จครับ

2. การชาร์จเงินจากบัตรเครดิต

ผมชาร์จเงินไม่สำเร็จ!! นี่เป็นปัญหาแรกที่ผมเจอ ซึ่งผมก็สงสัยว่าทำอะไรผิดหรือเปล่า จึงย้อนกลับไปดูในเอกสาร ซึ่งข้างในระบุไว้ว่าจำนวนเงินที่ชาร์จได้ขั้นต่ำ คือ 20 บาท สูงสุด คือ 1 ล้านบาท และต้องรวมเศษสตางค์เข้าไปด้วย นึกภาพไม่ออกไปดู Code ตัวอย่างกันเลยครับ

$charge = OmiseCharge::create(array( 
             'amount' => 2000,
             'currency' => 'thb',
             'card' => 'chrg_test_531x3aejjpkzah8akgk'
          ));

เป็นตัวอย่าง Code PHP สังเกตตรง amount คือ จำนวนเงิน (ค่าสินค้าหรือบริการ) ที่เราชาร์จจากบัตรเครดิตของลูกค้าครับ ตรงนี้เราต้องรวมเศษสตางค์เข้าไปด้วยครับ พูดง่าย ๆ คือ ให้ตัดจุดทศนิยมออก เช่น 20.00 เป็น 2000 ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าต้องใส่เป็นจำนวนเต็ม (เพราะเอกสารระบุเป็น Integer) เลยใส่ไป 20 ซึ่งระบบมันมองเป็น .20 ทำให้ไม่สามารถชาร์จเงินได้ เพราะไม่ผ่านจำนวนเงินขั้นต่ำ 20 บาทนั่นเอง

3. การคืนเงินลูกค้า

หลังจากที่ชาร์จเงินได้แล้ว ผมก็ลองคืนเงินด้วย โดยยอดเงินที่ลูกค้าจะได้รับคืน จะเป็นยอดเงินหลังหักค่าธรรมเนียม 3.65% + Vat 7% จากทาง Omise แล้ว ส่วนระยะเวลาที่จะได้รับเงินคืน คือ รอบบิลถัดไป ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการคืนเงิน คือ 30 วันครับ

จากเงื่อนไขข้างต้น หากคุณใช้ Omise เป็น Payment Gateway และมีนโยบายคืนเงิน คุณต้องเขียนเงื่อนไขการคืนเงินชี้แจงลูกค้าให้เข้าใจด้วยนะครับ

4. การถอนเงินจาก Omise เข้าบัญชี

การถอนเงินจาก Omise มาเข้าบัญชีธนาคาร มีหลายประเด็นที่ต้องพูดครับ

ประเด็นที่หนึ่ง

ถ้ามีเงินถูกชาร์จเข้ามาในระบบของ Omise เงินจะต้องคงอยู่ในระบบ 7 วันจึงจะถอนออกมากได้ เช่น ถ้ามีเงินเข้ามาวันที่ 1 มีนาคม คุณต้องรอจนถึงวันที่ 8 มีนาคม จึงจะถอนเงินจาก Omise มาเข้าบัญชีคุณได้

นึกภาพไม่ออกไปดูรูปตัวอย่างด้านล่างตรงที่วงแดงไว้ครับ Total Balance หรือยอดเงินทั้งหมดในระบบ Omise ของผม คือ 3,969.25 บาท ส่วน Transferable Balance หรือยอดเงินที่อยู่ในระบบ 7 วันขึ้นไป สามารถถอนออกมาได้ คือ 1,662.99 บาท

แชร์ประสบการณ์ Omise ภาคใช้งานจริง

ประเด็นที่สอง

ในเอกสารของ Omise ระบุเรื่องการถอนเงินไว้ว่า “ระบบจะทำการสรุปและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า” คำถามของผมก็ คือ “ถ้าเป็นวันหยุด เราสามารถถอนเงินออกจาก Omise มาเข้าบัญชีได้หรือไม่” คำตอบ คือ “ไม่ได้” ครับ ตรงนี้ทาง Omise น่าจะเขียนแจ้งไว้หน่อยว่า “เฉพาะวันทำการ”

ผมทดสอบโดยการถอนเงินในศุกร์ตอนกลางคืน เพื่อลองดูว่าจะได้รับเงินในวันเสาร์หรือไม่ ปรากฏว่าไม่ได้ครับ ผมต้องลองเช็คอีกทีตอนวันจันทร์ ถึงจะเห็นว่า Omise ทำการโอนเงินให้ แต่เงินเข้าบัญชีจริง ๆ ก็ตอนเวลาประมาณตี 1 กว่า ซึ่งกลายเป็นวันอังคารไปแล้ว กระบวนการที่ล่าช้าตรงนี้ต้องเช็คอีกทีครับว่าช้าที่แบงค์หรือเปล่า

ประเด็นที่สาม

โดยปกติการถอนเงินจาก Omise ถ้าจำนวนเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะมีค่าธรรมเนียมในการถอน 30 บาทต่อครัง ซึ่ง 30 บาทนี้เราจะถูกหักตอนไหน ก็ตอนที่เงินเข้าบัญชีธนาคารแล้ว เช่น ถ้าผมถอนเงินมา 1,000 บาท เงินที่เข้าบัญชีผม คือ 970 บาท ดังนั้นตอนถอนเงินออกมาให้เราบวกเพิ่มไปเลย 30 บาท จากยอดที่เราต้องการถอนออกมา

ทั้งหมดประเด็นหลัก ๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจเลยนำมาแชร์ให้ได้อ่านกัน เพื่อลดการลองผิดลองถูกให้กับคนที่อยากนำ Omise ไปใช้เป็น Payment Gateway ครับ

Comments

comments