กรณีศึกษา Business Model ของแอพหาคู่ OkCupid และ Tinder

ในบทความ เผยเบื้องหลัง เทคนิคการแนะนำคู่เดทของแอพ OkCupid และ วิเคราะห์การแนะนำคู่เดทของแอพ Tinder ผมได้พูดถึงแอพหาคู่ที่คนไทยนิยมเล่นอย่าง OkCupid และ Tinder บทความนี้ผมนำเสนออีกแง่มุมเกี่ยวกับแอพทั้ง 2 ในบริบทธุรกิจไอที ซึ่งเป็นเรื่องของ Business Model หรือโมเดลการหารายได้ของแอพ

หากใครได้อ่านบทความ 10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP คุณจะทราบว่า Market Validation และ Business Model คือสิ่งที่ไอทีสตาร์ทอัพต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า Product มีตลาดรองรับและมีคนพร้อมจ่ายเงินให้ (Market Validation) ส่วน Business Model จะเป็นตัวบอกว่าธุรกิจทำเงินได้อย่างไร

กลุ่มตลาดของแอพ (Market)

ทั้ง OkCupid และ Tinder ทำตัวเป็นพ่อสื่อแนะนำคู่เดทที่ให้กับคนที่อยากมีคู่ โดยอิงจากความสนใจส่วนตัวของผู้ใช้ (Personal Interests) ที่หลากหลาย บางคนต้องการความสัมพันธ์ระยะสั้น ระยะยาว จนถึงแต่งงานก็มี กลุ่มคนเหล่านี้เป็นตลาดหลักของแอพประเภทนี้ครับ ส่วนตลาดรอง เช่น คนที่อยากหาเพื่อนใหม่ ฝึกภาษากับชาวต่างชาติ รวมถึงหา connection ในการทำธุรกิจ เป็นต้น

แอพประเภทนี้จำกัดอายุผู้ใช้ คือ ต้องมีอายุ 18 ขึ้นไป เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย COPPA (Children’s Online Privacy Protection Act) ซึ่งเป็นกฎหมายของอเมริกาเพื่อคุ้มครองเยาวชนจากการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต

การหารายได้ของแอพ (Business Model)

OkCupid และ Tinder ทั้งคู่มี Business Model ที่เรียกว่า Freemium คือ เปิดให้ใช้งานฟรีแต่มีบางฟีเจอร์ที่ต้องเสียเงิน ฟีเจอร์เหล่านั้นเรียกว่า Premium Features

OkCupid มี Premium Features อยู่หลายฟีเจอร์ แต่ฟีเจอร์เสียเงินตัวหลัก ๆ มีดังนี้

กรณีศึกษา Business Model ของแอพหาคู่ OkCupid และ Tinder

  • Basic คือ ดูคนที่กด Like คุณได้ สมัคร 1 เดือนจ่าย 19.95 เหรียญ/เดือน ถ้าสมัคร 12 เดือนจ่าย 5.83 เหรียญ/เดือน
  • Premium คือ ทำให้คุณมีคนสนใจมากขึ้น (ขนาดนั้นเลย), ดูคนที่กด Like คุณได้, เข้าไปดูโปรไฟล์คนอื่นโดยที่เจ้าของไม่รู้ว่าคุณมาดู สมัคร 1 เดือนจ่าย 34.99 เหรียญ/เดือน ถ้าสมัคร 12 เดือนจ่าย 14.16 เหรียญ/เดือน

Tinder มี Premium Features แบบเหมาจ่าย 3 ฟีเจอร์ เรียกว่า TInder Plus จ่ายเดือนละ 9.99 เหรียญ มีฟีเจอร์ดังนี้

กรณีศึกษา Business Model ของแอพหาคู่ OkCupid และ Tinder

  • Rewind your last swipe ย้อนกลับคนที่เรา swipe ล่าสุดได้ เช่น เผลอ Swipe ไม่ชอบ (Dislike) ไปแล้วอยากย้อนกลับ
  • Change your location เปลี่ยนตำแหน่งปัจจุบันของคุณ เช่น เปลี่ยนจากขอนแก่นไปเป็นกรุงเทพ ให้แอพแนะนำคู่เดทที่อยู่ในกรุงเทพให้
  • Turn off Ads ปิดโฆษณา

แอพ Tinder เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ธุรกิจเพิ่งปรับ Business Model เมื่อไม่นานมานี้ น่าจะช่วงต้นปี 2015 โดยหาจากความต้องการของผู้ใช้ เช่น ผู้ใช้มักเผลอ Swipe ไปทางซ้ายซึ่งเป็น Dislike โดยไม่ตั้งใจ อยากย้อนกลับดูได้ หรือผู้ใช้อยากเปลี่ยนตำแหน่งให้แอพแนะนำคนต่างพื้นที่ให้ เป็นต้น

กรณีอย่าง Tinder ไม่แปลกครับที่ช่วงแรกจะเน้นขยายฐานผู้ใช้ให้ได้จำนวนมาก และหารายได้จากโฆษณา ก่อนที่จะหาความต้องการของผู้ใช้เจอแล้วปรับมาเป็น Freemium อย่าง Facebook เปิดมาตอนแรกก็เน้นให้ใช้งานฟรี ก่อนที่จะหารายได้จากการให้คนมาลงโฆษณา

Freemium เป็นอีกหนึ่ง Business Model ที่ธุรกิจไอทีนิยมใช้ ยกตัวอย่าง เช่น Dropbox และ Gmail ที่คุณสามารถใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าอยากได้พื้นที่เก็บไฟล์หรืออีเมลเพิ่มก็เสียเงินซื้อ หรืออย่าง Spotify ที่คุณสามารถฟังเพลงได้ฟรี แต่ถ้าเสียเงินคุณจะได้เพลงที่มีคุณภาพเสียงดีขึ้น รวมถึงสามารถฟังแบบ offline ได้

กรณีศึกษา Business Model ของแอพหาคู่ OkCupid และ TinderPhoto credit: Spotify free vs Spotify premium: What’s the difference?

กฎ 80/20 ของพาเรโต เกี่ยวข้องกับ Freemium Model อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ มีลูกค้าเพียง 20% เท่านั้นที่ยอมจ่ายเงินซื้อ Premium Features และกลุ่มคนเหล่านี้ทำรายได้ให้กับธุรกิจถึง 80%

MVP เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถพิสูจน์ได้ว่า Premium Features ที่คิดขึ้นมานั้นมีคนซื้อจริงหรือไม่ ใครสนใจ MVP ลองไปอ่านบทความ MVP เรื่องที่คนทำสตาร์ทอัพควรรู้ ได้ครับ

อย่างไรก็ตามการ ธุรกิจจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่าง Free กับ Premium Features คือ ไม่ใช่ว่าผู้ใช้งานฟรีถูกจำกัดการใช้งานซะจนน่าเกลียด แทนที่เค้าจะซื้อ Premium Features ลูกค้าอาจลบแอพไปเลยก็ได้ ส่วน Premium Features ก็ต้องให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการใช้งานฟรีที่ชัดเจน มิฉะนั้นจะไม่มีคนซื้อฟีเจอร์เหล่านี้ครับ

สรุป

แอพ OkCupid และ Tinder มี Business Model ที่เหมือนกันคือ Freemium คือ เปิดให้ใช้งานแอพฟรีและมีบางฟีเจอร์ที่ต้องเสียเงินถึงใช้ได้ ซึ่ง Freemium เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ไอทีสตาร์ทอัพในปัจจุบันนิยมใช้เป็นช่องทางหารายได้ให้แก่ธุรกิจ แต่การที่ธุรกิจจะค้นหาและกำหนด Free กับ Premium Features ได้นั้น จำเป็นต้องศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน รวมถึงความต้องการของผู้ใช้อย่างละเอียด และที่สำคัญอย่าลืมใช้ MVP ในการทดสอบสมมติฐานครับ

Comments

comments