งบไม่เกิน 1,000 บาท สร้างเว็บเกสท์เฮ้าส์ เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

หลังเรียนจบ ผมได้มีโอกาสกลับมาบ้านที่สุรินทร์ เพื่อทำสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ตามความฝัน ณ ขณะนั้นเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2014 คุณยายผม ท่านได้ยกหอพักให้แม่ผมดูแลต่อ ซึ่งเป็นหอพักชาย แม่ผมตัดสินใจปิดหอพัก เพราะนักเรียนและนักศึกษาที่มาอยู่ทำสภาพห้องเละมาก ประตูพัง อ่างล้างหน้าถูกขโมย ท่อน้ำอุดตัน ฝาผนังถูกเจาะฝาหนัง ขยะกองเพนิน และอีกสารพัดความเสียหายที่เกินจะบรรยาย 🙁

เราก็เลยจัดการไล่ออกให้หมดซะ ก่อนที่จะปิดปรับปรุงแปลงสภาพจากหอพักเป็นเกสท์เฮ้าส์ (Guesthouse) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากสุรินทร์ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวระดับ Big Scale อย่างโคราช เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา หรือกรุงเทพฯ ลูกค้าชาวต่างชาติคงหายากน่าดู ส่วนมากก็มาดูช้างปีละครั้งแล้วก็จากไป

แปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส

แต่ในวิกฤตก็ย่อมมีโอกาสครับ เนื่องจากสุรินทร์อยู่ติดกับเขมร (ประเทศกัมพูชา) ชาวต่างชาติจึงนิยมมาพักเติมพลังที่สุรินทร์ก่อนข้ามไปเที่ยวเขมรครับ แต่ประเด็นหลักเลย คือ ทำยังไงให้คนรู้จักเกสท์เฮ้าส์และมาพัก ตรงนี้แหละเป็นโจทย์ที่ยากมาก เกสท์เฮ้าส์ เล็ก ๆ ที่เพิ่งเปิดไม่มีการรีวิว และลืมไปได้เลยเรื่อง Agoda ถ้าคุณไม่ใหญ่จริงหรือมีคนพูดถึงเยอะ ๆ อย่าหวังว่าเค้าจะมาติดต่อขอทำธุรกิจด้วย ในหัวผมตอนนั้น คือ ต้องทำเว็บ และใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อโปรโมทเกสท์เฮ้าส์นี่แหละ แน่นอนว่า AirBnb อยู่ในช่องทางนั้นด้วย ใครยังไม่รู้จัก AirBnb ไปตามอ่านได้ที มาทำความรู้จัก AirBnb สตาร์ทอัพการแบ่งปันที่พักชื่อดัง

เริ่มต้นทำเว็บเกสท์เฮ้าส์

ผมเริ่มจากหาโลโก้กับตั้งชื่อเกสท์เฮ้าส์ก่อน ไอเดีย คือ สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ และฝรั่งชอบมาสุรินทร์ช่วงงานช้างเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นอีเว้นท์ระดับโลก ผมเลยเอาช้างนี่แหละมาเป็นโลโก้ของเกสท์เฮ้าส์ ประกอบกับสีหอพักเดิม คือ สีฟ้า จึงกลายมาเป็นเกสท์เฮ้าส์ช้างสีฟ้า (Blue Elephant Guesthouse) ซึ่งแต่เดิม Blue Elephant เป็นแบรนด์ดังร้านอาหารไทยที่แล้วฝรั่งคุ้นหูอยู่แล้ว และจดจำได้ไม่ยาก รูปช้างนี้ผมหาไอเดียจากเว็บ Pinterest มาวาดเป็น vector เอา

งบไม่เกิน 1,000 บาท สร้างเว็บเกสท์เฮ้าส์ เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ชื่อเกสท์เฮ้าส์กับโลโก้แล้ว ถัดมาคือการจดโดเมนและเช่าพื้นที่โฮสต์ เพื่อทำเว็บไซต์ให้ข้อมูลที่พักแก่นักท่องเที่ยวครับ โดยผมกำหนดงบไว้ไม่เกิน 1,000 บาท โดเมน blueelephantguesthouse.com กับ blueelephant.com มีคนจดแล้วครับ ผมจึงได้ชื่ออื่นแทน คือ blueelephanthouse.com  ทั้งหมดผมใช้บริการของ p&t hosting โดยค่าจดโดเมน รวมกับค่าเช่าพื้นที่โฮสท์ 100 mb รวมทั้งสิ้น 738 บาท ตามรูปด้านล่าง

p&t hosting

เวิร์ดเพลสของดีและฟรีในการทำเว็บ

งบไม่เกิน 1,000 บาท สร้างเว็บเกสท์เฮ้าส์ เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเวิร์ดเพลส (WordPress) เป็นตัวเลือกแรกเลยที่ผมเล็งไว้ว่าจะเอามาใช้ทำเว็บ เนื่องจากเป็น CMS (Content Management System) หรือระบบที่ใช้จัดการเนื้อหาเว็บไซต์ที่ฟรี และเอื้อต่อการทำ SEO ช่วยให้เว็บของเราไปติดอันดับผลการค้นหาใน Google ได้ง่าย นอกจากนี้การติดตั้งและใช้งานเวิร์ดเพลสยังทำได้ง่าย รวมถึงธีมฟรีที่มีให้เลือกมากมายและเพียงพอต่อการใช้งานของเราครับ ข้อดีเหล่านี้ช่วยประหยัดเวลาในการพัฒนาเว็บไปได้เยอะครับ ช่วยให้ผมมีเวลาไปโฟกัสส่วนเนื้อหาของเว็บได้ดีทีเดียว

งบไม่เกิน 1,000 บาท สร้างเว็บเกสท์เฮ้าส์ เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเว็บ blueelephanthouse.com ผมใช้เวลาทำประมาณ 2 อาทิตย์ นานตรงที่ต้องเขียนเนื้อหาเว็บ เป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงรอจัดห้องให้เรียบร้อยเพื่อถ่ายรูปมาลงเว็บ เนื้อหาหลัก ๆ ในเว็บที่ต้องมี คือ

  • รายละเอียดเกสท์เฮ้าส์
  • รายละเอียดห้อง สิ่งอำนวยความสะดวก และราคาที่พักต่อคืน
  • วิธีการจอง รวมถึงข้อมูลการติดต่อ เบอร์โทร อีเมล

ส่วนเนื้อหาเพิ่มเติมที่ผมเขียนลงไป เช่น ที่ตั้งของเกสท์เฮ้าส์และสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง เส้นทางการโดยสารจากสถานนีขนส่ง และสถานีรถไฟมายังเกสท์เฮ้าส์ รวมถึงข้อมูลการท่องเที่ยวในจังหวัด เช่น งานช้าง ประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น

อันที่จริงเวิร์ดเพลสมี plug-ins เกี่ยวกับการจองโรงแรมนะ แต่ผมยังไม่ได้ไปศึกษาดู บวกกับเว็บเพิ่งเปิดยังดูไม่น่าเชื่อถือ ผมเลยเปิดให้แขกจองได้ 2 ช่องทาง คือ

  • จองผ่านทางอีเมล์ [email protected] คือ ส่งคำขอจองมาทางอีเมลว่าจะมาวันไหน พักกี่คืน และจ่ายเงินตอน walk-in เข้าพัก  ส่วนตัวผมใช้ Gmail เพื่อให้ sync เข้ากับมือถือเพื่อเช็คได้สะดวก
  • จองผ่าน AirBnb โดยคำขอจองจะส่งมาแจ้งเราทั้งทางอีเมล์, SMS และแอพ AirBnb บนมือถือ ว่าจะพักกี่คืน มีการคำนวณราคาที่พักให้เสร็จสรรพ รวมถึงแขกสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือ PayPal ผ่าน AirBnb ได้ทันที เราจะได้เงินหลังจากที่แขกเช็คอินเข้าพัก 1 คืน

ตอนนี้เว็บที่ผมลงทุนไม่ถึง 1,000 บาท พร้อมให้บริการนักท่องเที่ยวเข้ามาจองที่พักแล้วครับ แต่ยังติดที่ว่า ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยว seach google แล้วมาเจอเว็บของเรา อย่าลืมว่าเว็บเพิ่งเปิดใหม่โอกาสติดอันดับผลการค้นหาหน้าแรก ๆ นั้นมันยาก แต่ผมมีวิธีทำให้เว็บติดอันดับการค้นหาหน้าแรก ๆ ได้ง่ายครับ ใช้เวลาไม่กี่วัน ใครสนใจไปอ่านได้ที่บทความ ทำเว็บติดอันดับค้นหาหน้าแรก Google ไม่กี่วันด้วย Google My Business ของดีที่เว็บมีหน้าร้านควรสมัคร


อีบุ๊ค Airbnb Entrepreneur 2018: ผู้ประกอบการ Airbnb มือใหม่ สร้างรายได้จากการให้เช่าที่พัก ฉบับปรับปรุงปี 2018

Comments

comments