BucketFeet ธุรกิจที่เกิดจากงานอดิเรก ก่อนที่ผู้ก่อตั้งจะเห็นศักยภาพของมันโดยบังเอิญในระหว่างเดินทาง จนนำไปสู่การก่อตั้งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพรองเท้าผ้าใบที่มีลวดลายมากมายจากศิลปินต่าง ๆ ทั่วโลก ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าสองผู้ก่อตั้งไม่มีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจผลิตรองเท้าขายมาก่อน พวกเขาทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จมาติดตามอ่านกันได้เลยครับ

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2011 Raaja Nemani และ Aaron Firestein กำลังคอยรองเท้าผ้าใบจำนวน 2,600 คู่ที่กำลังถูกส่งมายังบ้านของพวกเขาในชิคาโก ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดพายุหิมะ จึงเป็นหน้าที่ของรถบรรทุกขนาดเขื่องที่บรรทุกของที่สั่งมาให้พวกเขา เมื่อรถมาถึงสองหนุ่มก็พบว่าพวกเขาล้มเหลวอีกแล้วจากสิ่งที่พวกเขาคิดไว้

BucketFeet เรื่องราวของสองผู้ก่อตั้งกับความสำเร็จในธุรกิจที่พวกเขาไม่มีความรู้มาก่อน

พนักงานขับรถต้องการทราบว่ามีท่ารถขนถ่ายสินค้าออกอยู่ที่ไหน และใครจะเป็นคนขนสินค้าลง Nemani กล่าวว่า “ตอนนั้นพวกเราเหมือนไอ้งั่ง นี่มันถนนในเมืองนะ มันจะไปมีท่ารถตรงไหน”  และทั้งคู่ต้องคิดทำอะไรสักอย่าง ทันใดนั้นพวกเขาก็นึกออก จึงโทรเรียกเพื่อน 2-3 คนมาช่วย และจ่ายเงินให้กับพนักงาน 100 เหรียญ เพื่อเป็นค่าแรง และค่าเสียเวลาถึง 3 ชั่วโมง ในการช่วยกันขนย้ายกล่องรองเท้าจำนวนมหาศาลลงมากองที่พื้นหิมะ

ทั้ง Nemani และ Firestein ไม่เคยมีประสบการณ์จัดการคลังสินค้ามาก่อน รถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผิดพลาดของพวกเขาในการทำธุรกิจนามว่า BucketFeet แบรนด์รองเท้าที่ถูกออกแบบจากศิลปินต่าง ๆ ทั่วโลก

ในการขนส่งครั้งแรก พวกเขาสั่งรองเท้าเบอร์เดียวกันในแต่ละไซส์มา นี่ทำให้เราเดาได้ทันทีว่ารองเท้าไซส์ทั่วไปจะขายหมดทันที ในขณะที่ไซส์ใหญ่กับไซส์เล็กยังคงเหลืออยู่บนชั้น “นี่มันโคตรโง่เลย” Nemani กล่าว

การขนส่งรองเท้าครั้งแรก ไม่เพียงทำให้ทั้งคู่ต้องมาขบคิดเรื่องขนาดเท้าเท่านั้น แต่พวกเขายังได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างจากความผิดพลาดนี้ ทุกวันนี้ BucketFeet ขายรองเท้าผ้าใบได้เกือบ 5 แสนคู่ ธุรกิจได้รับเงินทุนจาก VC สูงถึง 16 ล้านเหรียญ และเร็ว ๆ นี้พวกเขายังขยายไปยังการทำถุงเท้า และมีแผนที่จะปล่อยรองเท้าหลากหลายรูปแบบในปีนี้อีกด้วย

สองผู้ก่อตั้งเชื่อว่าความสำเร็จของพวกเขามาจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน แม้ว่าพวกเขาจะมีสะดุดบ้างในช่วงออกตัว แต่ Nemani และ Firestein นั้นโฟกัสไปที่การใช้รองเท้าของพวกเขาเพื่อสร้างชุมชนคนหัวครีเอทีฟขึ้นมา ทุกวันนี้บริษัทมีศิลปินกว่า 30,000 คนทั่วโลกที่เข้าร่วมชุมชนแห่งนี้ ซึ่งศิลปินเหล่านี้ได้ส่งผลงานของพวกเขาให้ไปปรากฏอยู่บนรองเท้าของ BucketFeet

BucketFeet เรื่องราวของสองผู้ก่อตั้งกับความสำเร็จในธุรกิจที่พวกเขาไม่มีความรู้มาก่อน

เมื่อเลือกผลงานได้แล้ว BucketFeet จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าให้ โดยศิลปินจะได้รับเงินเริ่มต้นที่ 250 เหรียญ และจะได้รับอีก 1 เหรียญสำหรับรองเท้าแต่ละคู่ที่ขายได้ รองเท้าทุกคู่ของ Bucketfeet จะมาพร้อมกับเรื่องราวของศิลปินผู้ที่ได้ออกแบบรองเท้านั้น ๆ

ไอเดียของ BucketFeet เกิดขึ้นในปี 2008 ณ บัวโนสไอเรส Nemani เพิ่งจะลาออกจากงานด้านการเงินในชิคาโกเพื่อออกเดินทางรอบโลก ส่วน Firestein ก็เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย และเดินทางออกจาก California เพื่อท่องเที่ยวในระหว่างที่คิดไปด้วยว่าเขาจะทำอะไรต่อไปดี ทั้งคู่มาที่ บัวโนสไอเรส ตามความตั้งใจที่จะเดินทางเพื่อค้นหาจิตวิญญาณ และค้นหาชุมชนคนที่มี mind-set คล้ายกัน นอกจากนี้พวกเขายังเป็นอาสาสมัครเล่นฟุตบอลกับเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในสลัมนอกตัวเมืองอีกด้วย หลายเดือนต่อมาทั้งคู่ก็กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด

ก่อนที่ Nemani จะออกเดินทางสำรวจโลกต่อ เขาได้ซื้อรองเท้าผ้าใบมาคู่หนึ่งจาก Firestein (ตัวเขาเองเป็นศิลปินและนักถ่ายรูป) ซึ่งเขาเป็นคนบรรจงวาดลวดลายลงบนรองเท้าคู่นั้นให้กับมือ ทุกที่ที่ Nemani เดินทางไป รองเท้าคู่นั้นก็กลายมาเป็นตัวจุดประเด็นสนทนาในทุกที่ที่เขาไป

BucketFeet เรื่องราวของสองผู้ก่อตั้งกับความสำเร็จในธุรกิจที่พวกเขาไม่มีความรู้มาก่อน

Nemani กล่าวว่า “ไม่ว่าผมจะไปที่ บอตสวานา, เนปาล, อังกฤษ, ออสเตรเลีย หรือที่ใดก็ตามแต่ที่มีความแตกต่างด้านสถานที่ ภาษา และวัฒนธรรม ผู้คนที่นั่นต่างพูดถึงรองเท้าของผม และผมคิดว่าเจ้ารองเท้าคู่นี้มันมีพลังที่น่าเหลือเชื่อมาก ๆ”

ปฏิกริยาตอบกลับเหล่านั้นเพียงพอที่ทำให้ Nemani ตัดสินใจกลับไปหา Firestein เพื่อลองไอเดียว่าถ้าเขาต้องการเปลี่ยนงานตกแต่งรองเท้าผ้าใบ จากงานอดิเรกให้กลายเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมาล่ะ แต่ประเด็น คือ ทั้งคู่ไม่เคยมีประสบการณ์ผลิตรองเท้ามาก่อน

ก้าวแรกของสองหนุ่มในการสร้าง BucketFeet คือ ถาม Google โดยการพิมพ์คำถามง่าย ๆ ลงไปอย่าง “คุณทำร้องเท้าอย่างไร” “มีโรงงานผลิตรองเท้าที่ไหนบ้าง” และ “ผมจะหาโรงงานผลิตรองเท้าได้อย่างไร”

ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ต ที่ช่วยให้ทั้งคู่รู้ว่าพวกเขาจะต้องหาแหล่งผลิตรองเท้าจากนอกสหรัฐ แต่ติดที่ทั้งสองไม่มีคอนเนคชั่นใด ๆ เลย วันถัดมาในขณะที่ Nemani กำลังเดินอยู่ในย่านดาวน์ทาวของชิคาโก เขาเหลือบไปเห็นป้ายร้าน Mimi’s Maternity ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และนึกได้ว่ามีพ่อแม่ของเพื่อนที่เป็นเจ้าของอยู่

Nemani จึงโทรหาเพื่อนคนนั้นให้ช่วยถามพ่อแม่ดูว่าพอมีจะรู้จักผู้ผลิตคนไหนบ้าง และท้ายที่สุดคอนเนคชั่นเหล่านั้นก็ช่วยให้ Nemani ได้ทำสัญญากับบริษัท Li & Fung ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ในจีน

Nemani และ Firestein วางเงินกันคนละ 30,000 เหรียญเพื่อก่อตั้งบริษัท ในสองปีแรกทั้งคู่ไม่ได้จ่ายเงินให้ตัวเอง หรือเอาเงินไปทุ่มกับการตลาด เงินทุกดอลลาร์ถูกใช้กับการสร้าง Product ของธุรกิจ

ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Andy Dunn ผู้ก่อตั้ง Bonobos ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้า ได้ไปเจอรองเท้าของ BucketFeet เข้า เขาชื่นชอบมันมากถึงขึ้นออกเงินลงทุนให้กับบริษัทตั้งใหม่นี้ และนำรองเท้าของ BucketFeet ไปใส่ในเว็บของ Bonobos

หลักจากนั้นไม่นานห้างใหญ่ ๆ อย่าง Nordstroms และ Bloomingdales ก็ขอรองเท้าของ BucketFeet มาลงในเว็บไซต์ของตนบ้าง เหตุการณ์นี้ช่วยให้ธุรกิจรองเท้าผ้าใบมีธุรกรรมเข้ามาในช่วงเริ่มต้น

ทุกวันนี้รองเท้าของ BucketFeet วางขายในร้านของตัวเอง 4 ร้าน และในเว็บไซต์ร้านค้าปลีกอีกเป็นร้อยใน 25 ประเทศ

BucketFeet เรื่องราวของสองผู้ก่อตั้งกับความสำเร็จในธุรกิจที่พวกเขาไม่มีความรู้มาก่อน

ในการทำธุรกิจมีหลายการกระทำที่ถูกเรียกว่าการกระทำแบบโง่ ๆ เมื่อพวกเขาทำแล้วล้มเหลว ส่วนการกระทำที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาจะเรียกมันว่าการกระทำที่กล้าหาญ ณ จุดนี้สองคู่หูมองย้อนกลับไปครั้นสมัยที่พวกเขาช่วยกันก่อตั้งธุรกิจด้วยความภาคภูมิใจ “พวกเราเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการสร้างบางสิ่งขึ้นมา ซึ่งเราไม่มีทั้งประสบการณ์ และคอนเนคชั่นมาก่อน” Nemani กล่าว

ส่วน Firestein เสริมว่า “บางครั้งที่ทำผิดผลาด มันมาจากการที่ผมไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี แต่ในกรณีของ BucketFeet นั้น ผมต้องคิดถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำในเรื่องนั้น ๆ”

ความคิดเห็นจากผู้แปลและเรียบเรียง

ธุรกิจของ BucketFeet แสดงให้เราเห็นถึงการค้นพบโอกาสทางธุรกิจโดย Nemani จากการเดินทางเที่ยวรอบโลกพร้อมกับรองเท้าผ้าใบที่ Firestein เป็นคนวาดลวดลายด้วยมือ ผู้คนที่พบเห็นรองเท้านี้ คือ คนที่ตื่นเต้นกับ Product ตัวนี้ (Potential Customer) ซึ่งไม่มีกำแพงเรื่องภาษา สถานที่ หรือวัฒนธรรมมาขวางกัน ทำให้เราตีความหมายได้ทันทีว่าศิลปะเป็นสากล เมื่อทราบดังนั้น Nemani ก็ไม่รอช้าที่จะลองแปลงงานอดิเรกของ Firestein ให้เป็นธุรกิจทันที

อย่างไรก็ตามทั้งคู่ก็ต้องลองผิดลองถูกหลายอย่าง เนื่องจากพวกเขาไม่มีประสบการณ์ในการผลิตรองเท้ามาก่อน แต่การมองเห็นโอกาสและ Passion ที่พวกเขามีเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ BucketFeet สามารถสตาร์ทธุรกิจมาได้จนถึงทุกวันนี้

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งของการไม่มีข้ออ้างในการเริ่มต้นธุรกิจที่ตนเองอยากทำแต่ไม่ถนัดหรือไม่มีองค์ความรู้มาก่อน ดังนั้นจงใช้ความหลงใหลที่คุณมีเป็นแรงผลักดันไปให้ถึงเป้าหมายที่คุณตั้งใจไว้ครับ

ที่มา: http://www.entrepreneur.com/article/254790

Comments

comments