10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 1

ผมมีโอกาสได้อ่าน e-book ที่ชื่อ The guide to minimum viable products: A master collection of frameworks, expert opinions, and examples เขียนโดยทีมงาน UXPIN ซึ่งยกกรณีศึกษา 10 บริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำ MVP ช่วยให้เราเห็นภาพการเริ่มทำ Product ของบริษัทเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี บทความนี้ ผมแปลและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่โดยแบ่งเป็น 3 ตอน จะมีบริษัทอะไรบ้าง และแต่ละเจ้าใช้ MVP อย่างไร เชิญติดตามได้เลยครับ

1. Dropbox

10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 1Photo credit: Dropbox

Dropbox บริการ sync ไฟล์ชื่อดัง ใช้วิดีโอนำเสนอไอเดีย (Explainer Video) เพื่อประเมินตลาดก่อนว่าจะมีคนใช้มั้ย Houston (CEO) และลูกทีมต้องออกไปนอกบริษัท เพื่อพูดคุยกับผู้ใช้จริงเกี่ยวกับไอเดียนี้ และเก็บผลตอบรับ เพื่อตอบคำถามนักลงทุนให้ได้ว่ามีลูกค้าที่ต้องการและพร้อมจ่ายเงินให้กับบริการ sync ไฟล์นี้หรือไม่

แทนที่จะขลุกอยู่กับ server สร้างโปรแกรมต้นแบบที่ใช้งานได้ แล้วดูผลว่าจะมีคนใช้มั้ย ทีม Dropbox กลับเลือกตัดสินใจทำสิ่งที่ต่างออกไป พวกเขาทำวิดีโอขึ้นมา 1 ตัว เพื่ออธิบาย Dropbox และแชร์ออกไปบนอินเทอร์เน็ตเพื่อดูปฏิกิริยาของคนดู

วิดีโอ 3 นาทีของ Dropbox แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ว่าการ sync ไฟล์จะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คนได้อย่างไร ผลคือมีคนมาลงทะเบียนรอใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 5,000 เป็น 75,000 คน ในชั่วข้ามคืน ทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่มี product จริง ๆ ด้วยซ้ำ

การใช้วิดีโอของ Dropbox เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ฉลาดในการทดสอบตลาด ก่อนที่ผู้ก่อจะได้รับเงินลงทุนไปพัฒนาเป็น product จริงให้พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คนที่ดูวิดีโอนี้แล้วยอมสมัครใช้งาน นั่นคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เพราะเห็นว่าสิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ และนี่นำไปสู่คำตอบของคำถามสุดฮิตที่ว่า “ทำไมคนจะต้องมาจ่ายเงินเพื่อซื้อของคุณ”

2. AirBnb

10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 1Photo credit: AirBed And Breakfast Takes Pad Crashing To A Whole New Level

ในปี 2007 สามหนุ่ม Brian, Chesky และ Joe Gebbia ต้องการเริ่มธุรกิจสักตัว ปัญหาคือพวกเขาไม่มีปัญญาจ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ในซาน ฟรานซิสโก ในตอนนั้นกำลังจะมีงานประชุมวิชาการจัดขึ้นที่เมืองนี้ พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดห้องตัวเอง โดยทำเป็นที่พักราคาถูกสำหรับคนที่จะมาร่วมงานประชุม แต่โชคร้ายหาโรงแรมไม่ได้ พวกเขาจัดแจงถ่ายรูปห้องและนำไปโพสต์ลงเว็บไซต์ 1 หน้า ปรากฏว่ามีแขกเข้ามาพักและจ่ายค่าเช่าจริง 3 ราย คือ ผู้หญิงจากบอสตัน คุณพ่อจากยูทาห์และผู้ชายจากอินเดีย

เหตุการณ์นี้ทำให้ Chesky และ Gebbia มองเห็นถึงความต้องการของลูกค้า กรณีการทำ MVP ของ AirBnb เรียกว่า concierge MVP (อย่างน้อยลูกค้าก็เห็นด้วย) นอกจากจะเป็นการประเมินตลาดแล้ว ยังช่วยพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่าประสบการณ์นี้มีคนเต็มใจซื้อ

การทดสอบสมมติฐานนี้ ทำให้ผู้ก่อตั้งได้คำตอบว่า ไม่ใช่แค่พวกบัณฑิตศึกษา (ป.โท ป.เอก) เท่านั้นที่เต็มใจจ่ายเงินพักบ้านคนแปลกหน้าแทนที่จะเป็นโรงแรม แต่เป็นใครก็ได้ ดังนั้นสามหนุ่มจึงเริ่มต้นธุรกิจเกิดใหม่ที่ชื่อว่า AirBnb (AirBed&Breakfast คือชื่อแรก) ใครยังไม่รู้จักสตาร์ทอัพรายนี้ไปอ่านบทความที่ผมเขียนได้ มาทำความรู้จัก AirBnb สตาร์ทอัพการแบ่งปันที่พักชื่อดัง

3. Groupon

10 สตาร์ทอัพที่โคตรประสบความสำเร็จในการทำ MVP ตอนที่ 1Photo credit: The Point

Andrew Mason เริ่มต้นด้วยการทำเว็บไซต์ขึ้นมา 1 ตัว ชื่อ The Point เว็บที่ให้ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อทำบางสิ่งให้สำเร็จ เช่น การระดมเงินทุน หรือคว่ำบาตรผู้ค้าปลีกบางราย แต่ผลตอบรับกลับไม่ดีนัก ดังนั้น Mason และพวกจึงตัดสินใจทำบางสิ่ง

พวกเขาใช้ domain เดิม และทำการติดตั้ง Blog ของ WordPress ปรับแต่งหน้าตาและเรียกมันว่า The Daily Groupon จากนั้นจึงเริ่มนำดีลมาแปะไว้แต่ละวันโดยทำแบบ manual คือ เมื่อไรก็ตามที่มีคนมาสมัครดีล ทางทีมจะทำไฟล์ PDF ขึ้นมาและส่งอีเมลไปให้โดยใช้ Apple Mail เว็บไซต์แบบง่าย ๆ ที่พวกเขาสร้างนี่แหละที่ช่วยประเมินตลาดได้เป็นอย่างดี วิธีการนี้เรียกว่า manual-first (Wizard of Oz) คือ ดูเหมือนเว็บใช้งานได้จริง แต่เบื้องหลังใช้คนจัดการทั้งหมด ไม่ได้มีระบบทำงานอัตโนมัติ

ทีม Groupon เลือกที่จะไม่ใช้เวลาไปกับการพัฒนาระบบคูปองและการออกแบบเว็บไซต์ใหม่ แต่พวกเขาเลือกที่จะลงแรงไปกับการทำ piecemeal MVP (Wizard of Oz + concierge MVP) เพื่อทดสอบสมมติฐานว่ามีคนสนใจสิ่งที่พวกเขานำเสนอหรือไม่ แน่นอนว่า MVP ของ Groupon ประสบความสำเร็จในการตอบคำถามให้กับพวกเขาเองได้แล้วว่ามันเวิร์กมั้ย

สรุป

  • Dropbox ใช้วิธีการทำวิดีโอเพื่อนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา (Explainer Video) เพื่อดูว่ามีตลาดรองรับหรือไม่
  • AirBnb ถ่ายรูปห้องของตัวเองไปแปะไว้ในเว็บไซต์หน้าเดียว เพื่อทดสอบไอเดียว่าจะมีคนมาเช่าจริงหรือไม่ (Wizard of Oz)
  • Groupon ใช้ WordPress มาทำเป็นเว็บแปะดีล แล้วให้คนส่งเมลรายละเอียดดีลเป็น PDF ไปให้ผู้สมัครดีลนั้น ๆ (Wizard of Oz + concierge = piecemeal MVP)

จุดที่ทั้ง 3 มีร่วมกัน คือ การที่ยังไม่มี product หรือระบบใช้งานได้จริง แต่ก็สามารถพิสูจน์ไอเดียและสมมติฐานได้ว่ามีคนยอมสมัคร หรือจ่ายเงินเพื่อซื้อคุณค่า ประสบการณ์ หรือวิธีแก้ปัญหาที่พวกเขาส่งมอบให้ และนั่นคือหลักของการทำ MVP ครับ

ใครที่อ่านจบแล้วลองอ่านตอนที่ 2 กับ 3 ได้ที่นี่ครับ

Comments

comments